ประธาน กกต.เชื่อกระบวนการเลือก ส.ว.ใหม่ เริ่มหนึ่งเดือนหลังกฎหมาย ส.ว.ประกาศใช้ ระบุ คสช.ส่งร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/60 แล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ยัน กกต.ไม่ได้ทำงานใต้เงา คสช.
วันนี้ (25 พ.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการคัดเลือก ส.ว.หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า สำนักงาน กกต.ได้ยกร่างระเบียบรองรับแล้ว รอแค่ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะออกระเบียบได้ทันทีเพื่อเตรียมการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยที่มา ส.ว.มาได้สองทางคือ สมัครอิสระซึ่งต้องส่งโดยองค์กรนิติบุคคล หลังจากนั้นจะมีการประกาศให้องค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลมาลงทะเบียนกับ กกต. เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับก็ประกาศวันสมัครและเลือกทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ก่อนที่จะส่ง 200 รายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน คาดว่าภายในหนึ่งเดือนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะเห็นกระบวนการเลือก ส.ว.ใหม่ได้ โดยยืนยันได้ว่าดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
นายศุภชัยยังกล่าวถึงการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ กกต.เสนอให้มีการแก้ไขว่า ทาง คสช.ได้ส่งร่างแก้ไขมาที่ กกต.แล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่แก้ไขก็เป็นเรื่องที่ กกต.ได้ท้วงติงไป หากมีการแก้ไขตามนั้นก็น่าจะแก้ปัญหาของพรรคการเมืองได้ ส่วนจะแก้ไขเมื่อไหร่เป็นเรื่องของ คสช. โดย กกต.ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้ สำหรับการหารือที่ คสช.เตรียมทจะเชิญพรรคการเมือง และกกต.ไปประชุมร่วมกันนั้น กกต.คงไม่สามารถให้คำแนะนำ คสช.ได้ เพราะเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น และยังไม่ทราบว่าจะมีการประชุมเมื่อใด
เมื่อถามว่าวางบทบาทของ กกต.แบบนี้อาจถูกมองว่าอยู่ภายใต้ คสช.หรือไม่ นายศุภชัยกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ไม่ใช่ คุณเข้าใจผิด องค์กรอิสระอย่าง กกต.ไม่ได้ขึ้นกับ คสช. แต่ต้องดูว่า ณ วันนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ คนที่มีอำนาจออกตามมาตรา 44 คือ คสช. เราก็ต้องทำตามกฎหมาย ทั้งนี้ ยอมรับว่า กกต.มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายพรรคการเมือง แต่เมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 กกต.ก็ไม่สามารถก้าวล่วงได้ต้องแยกกัน ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ตามกรอบของรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ให้ดำเนินการเลือกตั้งภายใน 150 วัน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จากนั้น กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง โดยตามกฎหมาย กกต.ไม่ต้องหารือใครก็ได้ แต่การหารือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกพรรค ซึ่งการจัดการเลือกตั้งอาจใช้เวลาไม่ถึง 150 วันก็ได้