สนช.ยก “ลพบุรี” ต้นแบบควบคุมประชากรลิง เตรียมทำประชาพิจารณ์ย้าย-ไม่ย้ายลิงไปอยู่เกาะ ด้าน “พงศพัศ” ปัดข้อหาจับลิงปล่อยเกาะ อ้างแค่เวิร์ดดิ้ง ยันทุกขั้นตอนไม่ขัดหลักกฎหมาย
วันนี้ (16 พ.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤต (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน) โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ปัญหาลิงถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ที่มีความฉลาด ว่องไว ไปไหนได้รวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการลำบาก ซึ่งพื้นที่ที่มีวิกฤตเรื่องลิงต้องเตรียมความพร้อมร่วมกัน โดยต้องเริ่มต้นจากการทำประชาพิจารณ์ของคนในพื้นที่ก่อนว่าสามารถอยู่กับลิงได้หรือไม่ หากพื้นที่ใดยินยอมที่จะอยู่กับลิงต่อก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดการทำหมัน ควบคุม ส่วนพื้นที่ใดที่ไม่อยากอยู่ร่วมกับลิง ก็จะเข้าสู่แผนบริหารจัดการนิคมลิง
ด้านนายชัยณรงค์ ดูดดื่ม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวถึงแนวคิดการสร้างนิคมลิง ว่าสิ่งสำคัญที่สุดต้องทำประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่และศึกษาผลกระทบ ขณะนี้ยังหาบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้เนื่องจากทีโออาร์เข้มงวดมาก หากสุดท้ายหาไม่ได้ต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเจาะจง โดยเบื้องต้นพื้นที่ที่ จ.ลพบุรี เล็งไว้คือ เขาพระยาเดินธง พื้นที่ 2,000 ไร่ แต่ทั้งหมดต้องดูผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาก่อน
ด้าน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ กล่าวภายหลังการสัมมนาว่า ที่ผ่านมามีการพยายามแก้ปัญหาข้อพิพาทคนและลิงมาตลอดหลายสิบปี แต่การทำหมันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยได้มาก แต่ไม่เพียงพอกับการเจริญพันธุ์ของลิง การทำนิคมลิงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาในอนาคต ขอยืนยันว่ากลไกต่างๆ ในการโยกย้ายลิงจะคำนึงถึงสวัสดิภาพเป็นหลัก เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดนี้เป็นผู้ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีการจัดการให้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนและลิงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข
“ไม่ต้องกังวลใจเรื่องเอาลิงไปปล่อยเกาะ เพราะเป็นแค่ถ้อยคำเท่านั้น เพราะเกาะที่เป็นนิคมลิงจะเป็นสถานที่ให้พวกเขาได้อยู่อย่างมีความสุขจนถึงบั้นปลายชีวิต เรื่องนี้ไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ เพราะเราไม่ได้ไปฆ่าหรือทำร้าย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราจะไม่ย้ายออกไป เพราะเป้าหมายสูงสุด คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว
ส่วนที่มีนักวิชาการบางฝ่ายเป็นห่วงสวัสดิภาพของลิงนั้น พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ได้หารือกับนักวิชาการบางท่านรวมถึงทุกฝ่ายทั้งกลุ่มคนรักลิงและคนที่มีปัญหากับลิง ต่างก็ยินดีที่จะให้ความเห็นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ที่ให้ไว้เกี่ยวกับการบริหารจัดการลิงที่ลพบุรี ซึ่งการดำเนินการบางเรื่องต้องใช้ระยะเวลา แต่สำหรับพื้นที่ที่เป็นปัญหาจริงๆ อาจต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ที่จะโยกย้ายลิงไปจะดูแลเป็นอย่างดีตามมาตรฐานของกฎหมาย และจะมีหน่วยงานค่อยติดตามงานอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่จะใช้ทำนิคมลิงนั้นเบื้องต้นจะใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ เพราะมีการดำเนินการเรื่องนี้มานานพอสมควร โดยมีการลงพื้นที่สำรวจเกาะ 5 เกาะที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่จำเป็นต้องเติมให้สมบรูณ์เช่น แหล่งอาหาร แหล่งน้ำจืด เมื่อมีความพร้อมแล้ว ถึงมีการจัดทำประชาพิจารณ์กับประชาชน หากทุกฝ่ายมีข้อคดเห็นอย่างไรก็สามารถเสนอมายัง สนช.ได้ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้ลิงอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีความพร้อมทำประชาพิจารณ์เมื่อใด พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลป่าคลอก จะมีการทำประชาพิจารณ์ ทั้ง 5 เกาะในพื้นที่ที่มีปัญหา โดยจะมีการสอบถามว่าหากจะต้องการให้ย้ายลิงส่วนเกินไปจากพื้นที่จะนำไปไว้ที่ไหนอย่างไร โดยจะชี้แจงขั้นตอนต่างๆให้ประชาชนเข้าใจ หากประชาชนเห็นด้วยก็พร้อมที่จะย้ายทันที แต่หากประชาชนยืนยันพอใจจะอยู่ร่วมกับลิงก็ไม่มีปัญหา ก็จะจัดการทำหมันหรือเติมเต็มระบบนิเวศในบริเวณชุมชนให้รองรับการอยู่ร่วมกันได้ ส่วนงบประมาณที่จะใช้โครงการนี้คาดว่าจะใช้ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นแหล่งธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ที่กังวลคือไม่อยากให้ระบบนิเวศเดิมของเกาะต่างๆ ที่จะทำนิคมลิงได้รับผลกระทบโดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่อาศัยเดิม หรือพืชพันธุ์ต่าง เพียงแต่ต้องมีการเติมเต็มในสิ่งที่ลิงต้องการเพื่อใช้เป็นอาหาร และเป็นกระบวนการทดลองเบื้องต้นเพื่อหาทางออก หากทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จหรือหลายฝ่ายไม่สบายใจ หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะแสวงหาวิธีการอื่นต่อไป