จ่อโปรย “นครชัยบุรินทร์” 2 หมื่นล้าน 121 โครงการ “สภาพัฒน์” เสนอแผนพัฒนา “ครม.สัญจร” ยกระดับ “บุรีรัมย์” สปอร์ตคอมเพล็กซ์ พัฒนาเป็นสนามบินระดับโลก “สุรินทร์” ของบ 40 ล้านศึกษาสร้างสนามบินพาณิชย์ “โคราช” ขอ 2.4 พันล้าน เป็นเมืองหลวงอีสาน “ชัยภูมิ “ขอร่วมกลุ่ม ถนน 4 เลน-แก้น้ำท่วมลุ่มน้ำชี
วันนี้ (6 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เตรียมจะเสนอแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครชัยบุรินทร์) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (สัญจร) ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (พ.ศ. 2561- 2564) ได้มีการทบทวน ฉบับปี พ.ศ. 2562
ขณะที่ “กลุ่มจังหวัด” 4 จังหวัด ตามนโยบายพัฒนาภาค ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชัยภูมิ จะมีการนำเสนอ ทั้งหมด 5 ด้าน รวม 121 โครงการ งบประมาณรวม 20,706.02 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 73 โครงการ งบประมาณ 3,392.65 ล้าน บาท อาทิ โครงการแก้มลิงลุ่มน้ำชี เพื่อป้องกันอุทกภัยในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียง โครงการยกระดับเมืองนวัตกรรมอาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Food Innopolis 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 21 โครงการ งบประมาณ 11,824.45 ล้านบาท เช่น โครงข่ายคมนาคมทางถนน 14 โครงการ อาทิ งานขยายทางหลวงหมายเลข 2445 ตอน บุรีรัมย์-ประโคนชัย ระหว่าง กม.10+750-กม.41+550 ระยะทาง 29.90 กิโลเมตร จาก 2 ช่อง เป็น 4 ช่องจราจร โครงการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนในกลุ่มจังหวัด โครงการปรับปรุงสนามบินบุรีรัมย์เป็นสนามบินศุลกากร เครื่องบินขนาดใหญ่และนักท่องเที่ยว ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่
3. ด้านการค้า การลงทุนและการค้าชายแดน 4 โครงการ งบประมาณ 1,370.ล้านบาท อาทิ โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 โครงการก่อสร้างศูนย์รวบรวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนโหมดขนส่ง Korat ICD : Inland Container Depot 4. ด้านการท่องเที่ยว 5 โครงการ งบประมาณ 496.34 ล้านบาท อาทิ โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา โครงการพัฒนาและฟื้นฟูเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและการท่องเที่ยว 5. ด้านคุณภาพชีวิต 18 โครงการ งบประมาณ 3,622 ล้านบาท เช่น โครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โครงการศูนย์ดูแลส่งเสริมและฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุจังหวัดบุรีรัมย์
ยกระดับ “บุรีรัมย์” สปอร์ตคอมเพล็กซ์ พัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ระดับโลก
มีข้อเสนอตลอดสัปดาห์ว่า จังหวัดบุรีรัมย์เตรียมยกระดับจังหวัดให้เป็นพื้นที่รองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลก เสนจัดตั้งศูนย์กลางทางการแพทย์ของภาคอีสานใต้ ขยายโรงพยาบาลศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงการเสนอขยายการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน และสนามบินบุรีรัมย์ให้เป็นสนามบินนานาชาติ
“พบว่าในปี 2559 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดสรรงบ 140 ล้านบาท พัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าขยายอาคารผู้โดยสาร ขยายลานจอดจาก 80 x 120 เป็น 120 x 140 เมตร เพิ่มทางขับอีก 1 เส้นทาง ด้วยงบประมาณ 90 ล้านบาท พร้อมขยายอาคารพักผู้โดยสาร งบประมาณ 50 ล้านบาท และสร้างแท๊กซี่เวย์เส้นใหม่ ปัจจุบันสนามบินบุรีรัมย์มีเที่ยวบินไป-กลับ 6 เที่ยว/วัน”
ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภค มีโครงการทำนาแปลงใหญ่ การปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง การทำเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ประปาหมู่บ้าน ประปาท้องถิ่น โดยเฉพาะ อ.ประโคนชัย นางรอง ลำปลายมาศ บ้านกรวด ซึ่งมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว มีการเสนอแผนพัฒนาโครงการแก้มลิงที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กในชุมชน 11 อำเภอ การเสนอแนวทางพัฒนาการระบายน้ำในเขตเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม
“มีแนวทางจัดการเส้นทางเชื่อมต่อจังหวัดต่าง ๆ ก่อสร้างเส้นทางสำคัญอำเภอประโคนชัยที่จะเชื่อมต่อกับอำเภอบ้านกรวดเข้าสู่ช่องสายตะกู ซึ่งมีแนวทางยกระดับให้เป็นด่านถาวรเพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าชายแดนในอนาคต”
มีข้อเสนยกระดับ “การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงวัย” ในโรงพยาบาลนางรอง ให้เป็นศูนย์รวมการบริการทางสุขภาพในอีสานใต้กว่า 19 อำเภอ จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และก่อตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์ อีกประเด็นคือการพัฒนาการท่องเที่ยว ห้วยจรเข้มาก และห้วยตลาด รวมถึงการพัฒนาไบก์เลน รอบอ่างห้วยจรเข้มาก และอ่างห้วยตลาด
จ.สุรินทร์ เสนอค่าศึกษาผุดก่อสร้างสนามบิน วงเงิน 40 ล้าน
นอกจากข้อเสนอ ในการก่อสร้างและขยายถนน 4 ช่องจราจร เชื่อมโยงจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดพื้นที่ติดต่อกัน มีการเสนอถนนเชื่อมต่อกลุ่มจังหวัดทางด้านอีสานใต้ในส่วนจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี และเชื่อมต่อมายังบุรีรัมย์ ยังมีข้อเสนอ การดูแลรักษาพยาบาล และการใช้ประโยชน์จากช้าง ส่วนการคมนาคม เสนอให้มีศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ วงเงิน 40 ล้านบาท
ข้อเสนอโครงการก่อสร้างด่านชายแดนศุลกากร บริเวณด่านชายแดนช่องจอม และการก่อสร้างถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 2 เส้นทาง รวมถึงข้อเสนอพัฒนาแหล่งน้ำทางการเกษตร 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดตั้งสถานีสูบน้ำที่บริเวณ ตำบลคำหุง อำเภอโนนนารายณ์ เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม และโครงการสร้างสถานีสูบน้ำและบ่อกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ช่วงหน้าแล้ง
โคราช ขอ 2.4 พันล้าน สารพัดโครงการเชื่อมเมืองหลวงอีสาน
นอกจากโครงการหลักที่จะขอเพิ่มสถานีจอดรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ณ อำเภอบัวใหญ่ นครราชสีมา เพื่อให้มีจุดเชื่อมต่อไปยังจังหวัดชัยภูมิ จ.นครราชสีมา ยังมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย และการพักสินค้า รวมถึงเป็นเมืองศูนย์ประชุม (MICE City) ข้อเสนอที่ จังหวัดเสนอมา จึงประกอบไปด้วย 1. โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่และจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ความจุ 15,000 คน มูลค่า 1,200 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างศูนย์รวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนโหมดขนส่ง (Korat ICD) แผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค มูลค่าการลงทุน สำหรับการออกแบบ 70 ล้านบาท
3. เร่งดำเนินการระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองโคราช LRT ซึ่งได้ออกแบบไว้แล้ว 4. การพัฒนาเส้นทางเชื่อมจุดขนถ่ายสินค้า (CY) อ.บัวใหญ่-ชัยภูมิ เป็นถนน 4 เลน มูลค่า 1,200 ล้านบาท 5. โครงการผันน้ำด้วยระบบท่อ จากอ่างเก็บน้ำหนองกก ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง แก้ปัญหาภัยแล้งที่ อ.พระทองคำ ระยะทาง 11 กม. ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท สามารถแก้แล้งซ้ำซากในพื้นที่ดังกล่าว และ 6. โครงการโลกของช้าง (Elephant World) โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์เฉลิมพระเกียรตินครราชสีมา เป็นอุทยานธรณีโลกซึ่งกำลังนำเสนอต่อยูเนสโก เสนอของบไป 80 ล้านบาท รวมเสนอของบประมาณดำเนินการทั้ง 6 โครงการเป็นเงินทั้งสิ้น 2,480 ล้านบาท
ชัยภูมิ “ขอร่วมกลุ่ม ถนน 4 เลน-แก้น้ำท่วมลุ่มน้ำชี
จ.ชัยภูมิ เน้นไปทางเสนอจัดการเส้นทางเชื่อมต่อจังหวัดต่างๆ เช่น จากจังหวัดชัยภูมิ มายังโรงพยาบาลบัวใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมจุดขนถ่ายสินค้า (CY) อ.บัวใหญ่-ชัยภูมิ เป็นถนน 4 เลน มูลค่า 1,200 ล้านบาท ยังมีโครงการแก้มลิงลุ่มน้ำชี เพื่อป้องกันอุทกภัยในจังหวัดชัยภูมิ จากงบประมาณกว่า 3 พันล้าน