ไทยนิยมยั่งยืน สะดุด! “รัฐ - มท.” ปรับกรอบแจกเงิน 2 แสนบาท ให้ 8 หมื่นหมู่บ้าน ไปอีก 120 วัน รอ กม. งบเพิ่มเติม 1.5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ พร้อมปรับกรอบทีมขับเคลื่อนฯ รอบ 3 - 4 ไปถึง 30 มิ.ย. หลัง จนท. ระดับตำบล ติดเฝ้าระวังอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ - ภัยพายุฤดูร้อน ส่วน “ค่าเวทีประชาคม” หมู่บ้านละ 7,600 บาท ใช้งบอื่นไปพลางก่อน
วันนี้ (29 เม.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับกระรวงมหาดไทย และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามที่ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน เสนอ
โดยมติ ครม. วันนั้น เห็นชอบให้ปรับกรอบระยะเวลาในการลงพื้นที่ของทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ตามโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล/ชุมชน ครั้งที่ 3 จากเดิมระหว่างวันที่ 11 - 30 เมษายน 2561 เป็นระหว่าง วันที่ 11 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2561 และ ครั้งที่ 4 จากเดิมระหว่างวันที่ 1 - 20 พฤษภาคม 2561 เป็นระหว่างวันที่ วันที่ 16 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2561
“ให้ปรับกรอบระยะเวลาดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” (หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท) จากกรอบระยะเวลาเดิม "ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561” เปลี่ยนแปลงเป็น “ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้”
นอกจากนี้ ยังให้แก้ไขคู่มีอการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” (หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท) ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ขอเปลี่ยนแปลง
มีรายงานว่า สำหรับเหตุผลที่ต้องปรับกรอบเวลาตามข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการ ระบุว่า ในห้วงระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2561 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนที่อยู่ในทีมขับเคลื่อนฯ ต้องเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และตั้งแต่วันที่ 15 - 18 เมษายน 2561 เกิดพายุฤดูร้อนในทุกภูมิภาคของประเทศ และ บางพื้นที่ได้ประสบอุทกภัย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล ในการปฏิบัติงาน
“ในการลงปฏิบัติงานของทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล ในครั้งที่ 3 - 4 มีแผนที่จะลงไปติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถลงปฏิบัติงานติดตามได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานจากสำนักงบประมาณ”
ทั้งนี้ การที่ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอให้ปรับกรอบระยะเวลาดังกล่าว รวมถึงแก้ไขคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา ที่ขอเปลี่ยนแปลง ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แจ้งอำเภอปรับแผนการลงพื้นที่ของทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล/ชุมชน ให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงยังเตรียมประชุมเพื่อซักซ้อมแนวทางการดำเนินการก่อนการลงพื้นที่ ครั้งที่ 4 ในเร็วๆ นี้ ด้วย
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชหารจังหวัด ให้แจ้งทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล ครั้งที่ 3 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รายการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนในจังหวัด/และนโยบายของรัฐบาล ไปพลางก่อนจนกว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ โดยเป็นค่าใช้จ่าย ในการจัดเวทีประชาคม
“ประกอบด้วย ค่าตอบแทนวิทยากร จำนวน 1 ครั้ง/หมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้เบิกค่าวิทยากรได้ไม่เกิน 12 คน เฉลี่ยคนละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 3,600 บาท/หมู่บ้าน/ชุมชน และเบิกจากจำนวนวิทยากร ที่ลงพื้นที่จริง ตามระเบียบของทางราชการ และด้องไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณของหน่วยงานอื่น , ค่าอาหาร 1 มื้อ สำหรับผู้เช้าประชุมเวทีประขาคม เฉลี่ยหมู่บ้านละ 100 คนๆ ละ 40 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท กรณีหมู่บ้าน/ชุมชน ขนาดเล็กเป้าหมายไม่ครบ 100 คน ให้เพิ่มในหมู่บ้านอื่นๆ ให้ครบ ตามเป้หมาย”
โครงการดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมาย 82,371 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมงบประมาณ 16,674 ล้านบาท หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาต (สนช.) เห็นชอบ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบประมาณปี 2561 เป็นเงินไม่เกิน 150,000,000,000 บาท