สพต. สัมมนาการพัฒนาพรรคการเมืองในบริบทการเมืองไทย การเมืองรุมอัด คสช. เปลี่ยนบทบาทจากกรรมการเป็นผู้เล่น “อนุทิน” โวย คสช. ตั้งพรรคทำกลุ่มอื่นเสียเปรียบท้าลาออกตั้งพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง “จุรินทร์” ซัดซ้ำรอยสามัคคีธรรม “จาตุรนต์” โวยไพรมารีโหวต ยุ่งยาก
วันนี้ (20 เม.ย.) สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (สพต.) ได้จัดสัมมนา หัวข้อ “การพัฒนาพรรคการเมืองในบริบทการเมืองไทย"” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ให้ความคิดเห็นตอนหนึ่งว่า ตนหวังว่า กกต. จะมีบทบาทในการเป็นผู้จัดการเลือกตั้งมากกว่าเป็นผู้รอคำสั่งรอทิศทาง รอนโยบายทั้งที่เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจ กกต. ขณะเดียวกัน กกต. ควรแก้ไขเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาอุปสรรคในการเลือกตั้งทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ปล่อยให้เลือกตั้งไปก่อนแล้วเป็นโมฆะทีหลังเหมือนที่ผ่านมา ส่วนการตั้งข้อสังเกตเรื่องการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งนั้น ตนมองว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้แต่ทำได้ยาก เพราะหากมีการเลื่อนโรดแมปจะทำให้เกิดความเสียหายนานัปการจนหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อีกทั้งรัฐบาล และ คสช. จะต้องพยายามรักษาโรดแมป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งตนเชื่อว่า รัฐบาลและผู้นำรัฐบาลจะรักษาคำมั่นสัญญา อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า เราไม่ควรไปกำหนดว่าจะต้องมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 62 เท่านั้น เพราะตนมองว่าอาจจะยืดหยุ่นออกไปนิดหน่อยได้แต่หากภายในปี 62 ไม่มีการเลือกตั้ง อานาคตข้างหน้าก็จะมีแต่ความมืดมิดแน่นอนแต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า หากอยากช่วยเหลือบ้านเมืองจริงๆ ควรลาออกตอนนี้ แล้วตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาลงเลือกตั้ง แข่งกับพวกตนเลย ซึ่งเชื่อว่า กรอบเวลาที่เหลืออยู่นี้ยังทัน แต่หากยังอยู่ใน ครม. แล้ว และมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้น ก็จะทำให้พรรคการเมืองอื่นเสียเปรียบ แต่หากลาออกแล้วมาตั้งพรรคการเมืองตอนนี้ก็จะไม่มีใครมีแต้มต่อมากกว่าใคร
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุผลที่การรัฐประหารของ คสช. ที่ต้องบอกว่าปฏิรูปในทุกด้าน วันนี้ผ่านมาเกือบ 5 ปีแล้ว ยังได้แค่หัวข้อว่าจะต้องปฏิรูปเรื่องอะไร และบางหัวข้อก็ยังไม่เสร็จ ต้องกลับไปปฏิรูปนับหนึ่งใหม่ เช่น ปฏิรูปตำรวจ 4 - 5 ปีที่ผ่านมา จึงถือว่า เราเสียโอกาสพอสมควร ยิ่งการปฏิรูปการเมืองเหมือนเป็นการย้อนยุค เรื่องพลังดูดไม่ใช่เรื่องใหม่ที่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มีการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมารองรับอำนาจรัฐประหาร ตนไม่ตำหนิ พรรคการเมือง หรือนักการเมืองทั้งหลาย เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะตัดสินใจว่าจะเดินการเมืองแบบไหน ถึงเวลาการเลือกตั้ง ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ แต่ก็คิดว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีข้อดีทำให้อย่างน้อยประชาชนที่เคยฟังคำตำหนินักการเมืองมาเยอะจะได้เห็นว่า ยิ่งกว่านักการเมืองเป็นอย่างไร และที่ต้องปฏิรูปนั้นนอกจากนักการเมืองแล้ว เราควรต้องปฏิรูปใครอีก
ส่วนการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เห็นว่า ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วนกติกา ผู้เล่น และกองเชียร์ ต้องเจือสมไปด้วยกัน แต่สถานการณ์ปัจจุบันนับตั้งแต่มีการประกาศตัวเป็นนักการเมือง สะท้อนว่า กรรมการได้เปลี่ยนเป็นผู้เล่นเต็มตัว การประกาศตั้งพรรคในทำเนียบ ทำให้ที่เราใช้ว่า รัฐบาล คสช. อาจต้องเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรค คสช. ซึ่งมีนัยยะที่แตกต่างกัน และอาจทำให้เราเห็นกลายๆ ว่า ผู้เขียนกติกพร้อมที่จะมาเป็นผู้เล่น ร่วมผู้เล่นอื่นๆ ที่ไม่เคยเป็นกรรมการ
ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า มองว่า ระบบไพรมารีโหวตตามกฎหมายใหม่มีความยุ่งยาก ไม่เป็นผลดีทำให้เกิดปัญหาภายในพรรค แม้ระบบไพรมารีโหวตมีความต้องการให้สมาชิกพรรคมาร่วมกำหนดผู้สมัคร แต่มองว่าระบบนี้ควรเริ่มเมื่อพรรคการเมืองมีความมั่นคง มีสมาชิกจำนวนเป็นแสนเป็นล้านคนสมาชิกสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้ดีพอสมควร การที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ทำ เราพร้อมปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องหาทางป้องกันความเสียหายให้มากที่สุด ส่วนการห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมนั้นมองว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องห้ามเลย เพราะขณะนี้กฎหมายพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับแล้ว ก็ควรปล่อยให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด