เมืองไทย 360 องศา
น่าจับตาทีเดียวสำหรับการตอบรับและเดินทางไปกล่าวปาถกฐาพิเศษในหัวข้อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้บรรดานิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ฟังกันเมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา
แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาที่พูดย่อมออกไปในแบบวิชาการ พูดไปเรื่อยๆ แต่เมื่อพิจารณาให้ละเอียดจะเห็นว่า “ไม่ธรรมดา” เริ่มจากการกล่าวอรัมภบทที่เน้นย้ำให้เห็นว่าเขามีความผูกพันใกล้ชิดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก เริ่มตั้งแต่ลูกสาวที่เรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ และภรรยาก็เป็นอาจารย์สอยอยู่ที่นี่ และยังชื่นชมว่าเป็นมหาวิทยาลัยสำคัญมาก
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่ไปเยียมชมคณะแพทยศาสตร์ ก็ได้กล่าวกับนักศึกษาแพทย์และชมเชย ว่า มีความอดทน เสียสละพร้อมทั้งฝากฝังว่าหลังจากจบไปเป็นแพทย์แล้วให้ดูแลรักษาคนไข้อย่างยุติธรรมและสามารถเข้าถึงได้ จากนั้นก่อนจากยัง “หยอดลูกหวาน” ส่งท้ายอีกว่า “ให้ดูแลคนแก่คนนี้ด้วย และเจอกันที่ไหนให้ทักทายกันด้วย”
แน่นอนว่า การเดินทางเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยแบบนี้ ในภาพของ “ท็อปบูต” เข้ามาแบบ “เผด็จการ” มันก็ต้องเจอกับปฏิกิริยาต่อต้านบ้าง นอกเหนือจากเด็กๆ บางคนที่ไฟแรงที่มักเป็นข่าวเป็นคราวให้เห็นอยู่บ้าง รวมทั้งเด็กๆ ที่ออกมาชูป้ายประท้วงสองสามคน ถือว่าบรรยากาศโดยรวมเรียบร้อยดี ไม่ใช่ลักษณะของการรวมพลังกันฮือต้านรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการวางกำลังป้องกันอย่างรัดกุมแน่นหนา แต่ถึงอย่างไรหากจะมีการขับไล่มันก็น่าจะหนักหน่วงกว่านี้ จนอาจมีการประเมินสถานการณ์แล้วบานปลาย พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะล้มเลิกไม่ไปก็ได้
แต่นี่หากไม่คิดแบบเทน้ำหนักไปที่พวกนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมแล้วก็ถือว่าโอเค และน่าติดตามกันต่อไปว่า การมาสถาบันการศึกษาแบบนี้ภาพจะออกมาเป็นบวกหรทอลบมากกว่ากัน
อย่างไรก็ดี ในสายตาของเราถือว่า “บรรยากาศ” อย่างที่เห็นถือว่า เป็นบวกมากกว่าลบ หากพิจารณาจากภาพโดยรวม อย่ามองแบบอินกับกระแสที่ “พยายามใส่สีต้านเผด็จการ” จนเกินพอดี และพิจารณากันในภาพรวมและในเชิงการเมืองก็ต้องบอกว่า นี่คือ “เจตนา” ของ “บิ๊กตู่” เหมือนกัน เพราะหากสังเกตุดีจะเห็นว่าเขามีการ"เตรียมการ"ทำการบ้านมาอย่างดีเหมือนกัน อย่างน้อยก็ต้องมีข้อมูลจาก “ลูกสาว - ภรรยา” มาเต็มกระเป๋าเหมือนกัน
หากประเมินในทางการเมืองก็ต้องรับรู้กันแล้วว่ากำลังจะมี “พรรคที่สนับสนุนทหาร” ขึ้นมาในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะในวงการได้เห็นการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ส่วนจะเป็นชื่อพรรคอะไร ดูดกลุ่มไหนเข้ามาร่วมนั้นต้องติดตามอย่ากะพริบตา เนื่องจากตามรูปการณ์แล้วบรรยากาศจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่รูปแบบของพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้นน่าจะเน้นไปทางจำนวน สส.ภาพจะออกมาในแบบการเมือง “แบบเก่า”
ขณะเดียวกัน เมื่อโฟกัสมาที่การปาฐกถาที่จุฬาฯ วันที่ 9 เมษายน ดังกล่าว หากพิจารณาจากเจตนาที่ปะปนกันเข้ามามันก็เหมือนกับการ “ปรับภาพลักษณ์” ให้ซอฟต์ลง เหมือนกับต้องการแตะมือกับบรรดา “คนรุ่นใหม่” ให้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ผ่านมา เพราะต้องไม่ลืมเสียงของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้มีความหมายมากมายนัก
ดังนั้น มองในมุมนี้ก็ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นเดินเกมในแบบที่ผิดไปจากเคยเห็น นั่นคือ เริ่มเดินเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย และแน่นอนว่า จะต้องเริ่มจากถิ่นที่คุ้นเคย ก่อนที่ขยายวงออกไปที่อื่นต้องติดตาม แต่ถึงอย่างไรมันก็เหมือนกับว่ามีเจตนา “แตะมือ” กับคนรุ่นใหม่เพื่อหวังผลในวันข้างหน้า อย่ากะพริบตา !!