“ประยุทธ์” ยันไม่มีทฤษฎีสมคบคิดยื้อเลือกตั้ง บอกยังไม่ตัดสินใจตีความ ร่าง พ.ร.ป. ส.ส. ระบุ มีเวลาถึง 12 เม.ย. ย้ำ ส่งศาล รธน. หรือไม่ต้องไม่กระทบโรดแมป
วันนี้ (27 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการส่งร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ ว่า วันนี้รัฐบาลได้รับร่าง พ.ร.ป. ฉบับดังกล่าวมาแล้ว และเรายังมีเวลาในการพิจารณา ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อถวายในการลงพระปรมาภิไธย ซึ่งมีเวลาจนถึงวันที่ 12 เม.ย. นี้ วันนี้ก็ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ ว่า ควรจะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม กำหนดการเลือกตั้งก็ยังคงอยู่ภายใต้โรดแมปที่วางไว้ และหากมีการยื่นตีความก็ไม่น่าจะช้าเกินไป ก็จะขอความกรุณาให้ศาลรับเรื่องกฎหมายลูกไปเป็นประเด็นสำคัญ ก็ขอให้ช่วยรัฐบาลดูแลให้อยู่ในกรอบของโรดแมป ซึ่งรัฐบาลก็ยังขอยืนยันในโรดแมปของเรา เรื่องดังกล่าวถือเป็นความเห็นของแต่ละฝ่าย ที่ผ่านมาอาจจะมีเจตนาดีและหวังเพื่อว่าจะให้เร็วขึ้น ตามที่กระแสสังคมต้องการ แต่พอมีปัญหามากๆ ตนเองก็ไม่อยากทำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาในช่วงขั้นตอนดังกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้มีปัญหาอยู่ 2 จุด คือ ปัญหาการไปช่วยเหลือผู้พิการในการกาสิทธิเลือกตั้งแล้วให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งในข้อเท็จจริง คนคงมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ แต่เมื่อมันเป็นประโยชน์ก็ต้องมีการหารือร่วมกันว่า มันจะผิดหรือไม่ผิดก็ยังไม่รู้ ต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปดูและทบทวนก่อน ว่าควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ไม่อยากให้เกินเลยห้วงเวลาตามโรดแมปที่กำหนดไว้ เพราะทุกอย่างถือเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ส่วนเรื่องที่มีการกล่าวหาว่าไปละเมิดสิทธิ กรณีห้ามคนไม่ไปเลือกตั้งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นการตัดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ทั้งนี้ ถ้าใครเห็นว่ามีการไปละเมิดสิทธิตัวเองในการเป็นข้าราชการ ก็สามารถฟ้องได้ภายหลัง เรื่องนี้มีหลายเหตุผลด้วยกัน สิ่งสำคัญที่ตนระมัดระวังมากที่สุด คือ ทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหาในขั้นตอนการขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยลงมา เรื่องนี้จะมีความขัดแย้งกันไม่ได้ ก็ขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วย
“แล้วก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะโยนทุกอย่างขึ้นไป หรือปัดความรับผิดชอบไปที่อื่น รัฐบาลนี้ไม่ทำเช่นนั้นแน่นอน จะต้องแก้ปัญหาระดับนี้ให้ได้ก่อน และผมก็ยืนยันอยู่แล้วว่า จะไม่ให้มีการกระทบกับโรดแมป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า เคยข้องใจหรือไม่ว่าการเขียนกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งล้วนแต่เป็นมืออรหันต์ แต่วันนี้กลับทำให้เกิดข้อสงสัยได้ในหลายประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้อย่าไปตั้งเป็นประเด็น เพราะเป็นการพิจารณาของทั้งสภา มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถือเป็นกลไกของกฎหมาย และการออกกฎหมาย ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดี ที่มีความขัดแย้ง ไม่ใช่คล้อยตามกันไปหมดทุกเรื่อง ก็ไปว่ากันมา รัฐบาลก็มีหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่กำหนด ก็สุดแต่ว่าจะทำได้อย่างไร รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้ว
เมื่อถามว่า สรุปแล้วจะส่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ตีความหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่เสร็จ และยังไม่ได้พูดกันว่าจะยื่นหรือไม่ยื่น กำลังพิจารณาร่วมกันอยู่ ถ้ามีความเห็นชอบร่วมกันก็ไปพิจารณาร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร วันนี้จะเสนอให้ตีความหรือไม่ยังไม่รู้ ยังมีเวลา แต่ตนได้บอกไปแล้วว่าไม่ว่าจะยื่นตีความหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของโรดแมปด้วย
“เดี๋ยวก็จะหาว่าผมไปถ่วงเวลา เป็นทฤษฎีสมคบคิด มันไม่ใช่ พวกคุณไปคิดกันเองนั้นแหละ พวกคุณสมคบคิดกันเอง ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วรัฐบาลจะทำอะไรได้ รัฐบาลก็ต้องเดินหน้าไปตามกรอบเวลาที่กำหนด และตามกฎหมายที่มีอยู่ ผมไม่ได้ต้องการที่จะไปลากยาวอะไรทั้งสิ้น ส่วนเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะได้อย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว ถ้าท่านอยากเลือกตั้ง ก็เลือกตั้งกันเข้ามา จะเลือกได้คนดีหรือเปล่า แล้วอย่ามาโทษรัฐบาลนี้ว่า เลือกตั้งแล้วก็ได้คนไม่ดีเข้ามาอีก เพราะผมไม่ได้เป็นคนเลือกตั้งรัฐบาลกับเขา ขอร้องสื่ออย่าเขียนอะไรที่มันพาดไปพาดมา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายผู้ที่เขียนกฎหมาย ไม่ได้เขียนกฎหมายแล้วมีปัญหา เพียงแต่เขาก็มีความคิดเห็นของเขา กรธ. ก็มีเสียงข้างมากและข้างน้อย ซึ่งทุกคนก็ต้องฟังว่าเสียงเหล่านั้นเป็นอย่างไร เมื่อมติเป็นไปตามเสียงข้างมาก ก็แสดงว่าเสียงข้างน้อยไม่เห็นชอบ ก็ต้องมาดูว่าในประเด็นนี้จะมีปัญหาอะไรในวันหน้าหรือไม่ ตนถึงได้บอกว่า ทำอย่างไรร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ร่าง ในวันข้างหน้าจะไม่เกิดปัญหาการฟ้องร้องขึ้นมา ไม่เช่นนั้น ก็จะวุ่นกันไปหมด ทำไมไม่ห่วงตรงนี้กันบ้าง ไปห่วงแต่การเลือกตั้ง ไม่สนใจหรือกฎหมายเขาว่าอย่างไร ทุกคนก็หวังดีกันทั้งนั้น ไม่ใช่จะไปเข้าข้างใคร เพราะถ้าเข้าข้างใคร ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่านนี้จบไปนานแล้ว
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้จึงต้องไปพิเคราะห์ว่ากฎหมายจะมีผลกระทบในวันข้างหน้าหรือไม่ ไม่ใช่พอเลือกตั้งไปแล้วก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกันอีก แล้วจะทำอย่างไร ถ้ามันผิดแล้วทุกอย่างมันฟาร์วทั้งหมดหรือ แล้วจะให้ตนรับผิดชอบอีกหรืออย่างไร