xs
xsm
sm
md
lg

“กำนัน” เปลี่ยนแผนใช้ “ม้าไม้เมืองทรอย” รอจังหวะยึด ปชป.!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



เป็นอันเข้าใจได้ทันทีว่าคำพูดล่าสุดเมื่อสองสามวันก่อนของ “กำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่ระบุว่า “ภารกิจของ กปปส. จบสิ้นลงไปแล้ว ส่วนเรื่องการตั้งพรรคใหม่นั้นถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นความเห็นส่วนตัวของ นายธานี เทือกสุบรรณ ไม่ใช่เป็นความเห็นหรือข้อสรุปของคนอื่นที่มีความเห็นร่วมกัน”

ส่วนอนาคตของเขานั้นยังยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมไปถึงไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีก แต่ส่วนตัวยังยืนยันให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

คำพูดรวมๆ ความหมายก็ประมาณนี้ นั่นคือ ไม่มีการตั้งพรรคในนามของ กปปส. ส่วน นายธานี เทือกสุบรรณ จะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาในชื่อใดก็ตามถือว่าเป็นความคิดส่วนตัวของแต่ละคน

ที่เป็นแบบนี้ก็มีสาเหตุมาจากก่อนหน้านี้ นายธานี เทือกสุบรรณ เคยให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า พี่ชายของเขา คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ จะตั้งพรรคแน่ แต่เมื่อ สุเทพ ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่าภารกิจของ กปปส. จบแล้ว ไม่มีการตั้งพรรคใหม่ก็ถือว่าในประเด็นนี้มีความชัดเจน

ขณะเดียวกัน เมื่อไปตรวจสอบที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านมาสี่ห้าวันแล้วก็ยังไม่มีปรากฏว่ามีการไปจดจองชื่อพรรค กปปส. หรือเห็น นายธานี เทือกสุบรรณ รวมไปถึงคนใกล้ชิดอื่นๆไปยื่นเรื่องแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาพที่เห็นในเวลานี้มันย่อมมีที่มาที่ไปและชวนให้คิดได้หลายประการ หนึ่งไม่ตั้งพรรค กปปส. เป็นเพราะภารกิจจบแล้วจริงหรือ สอง มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือเปล่า

แน่นอนว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์ล่าสุดจนถึงวันนี้ถือว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแทบจะสิ้นเชิง ชนิดที่เรียกว่า “หักมุม” 360 องศา หรือไม่ได้เป็นไปตามคาดหมาย เริ่มจากต้องเจอกับสถานการณ์ “ขาลง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่หลายเรื่องประดังเข้ามา และเมื่อต้องเจอกับเรื่อง “นาฬิกาเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถือว่าเป็น “พี่ใหญ่” ในรัฐบาลและในคสช.มันก็ยิ่งดำดิ่งฟื้นยาก

และจะว่าไปแล้วสำหรับ สุเทพ เทือกสุบรรณ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถือว่าเป็น “คนกันเอง” กันมานาน และด้วยดีลของพวกเขานี่แหละที่สามารถดึง “เนวิน ชิดชอบ” ออกมาโหวตหนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สมหวังในเก้าอี้นายกร้ฐมนตรีมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็อย่างว่าในเมื่อบรรยากาศมันไม่เป็นใจแบบนี้มันทำให้การตั้งพรรคใหม่ต้องล้มคว่ำไปหรือไม่

ประการที่สอง ที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกจะเห็นภาพการเคลื่อนไหวที่แสดงอาการโวยวายออกมาจากคนภายในพรรคที่ประจานให้เห็นว่า กำนันพยายามยึดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทำไม่สำเร็จ เนื่องจากถูกขัดขวางจากบรรดา “ขาใหญ่” ที่เป็นผู้อาวุโสในพรรคอย่าง ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ดังนั้น หากพิจารณาจากอาการของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในเวลานี้มันก็เหมือนกับเดินหน้าก็ไม่ได้ถอยหลังก็ลำบาก ทำให้บังคับให้เขาต้อง “ยืนกับที่” นิ่งๆ เอาไว้ก่อน

เมื่อสถานการณ์อย่างที่เห็นมันก็ย่อมทำให้บรรดา “ลูกหาบ” ที่เดินตามหลังกันเป็นพรวนต้องพลอยลำบากกันไปด้วย ความหมายก็คือพวกบรรดา กปปส. ที่เคยเป็นอดีต ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ต้องพลอยลำบากไปด้วย หากว่าจะ “ยกขบวน” กันออกมาจากบ้านเก่าเพื่อไปสร้างบ้านใหม่ที่ไม่มีหลักประกันอะไรรองรับเลย และหากเทียบกันกับกลุ่ม “10 มกรา” ในอดีตมันก็น่าจะต่างกันสุดขั้ว นั่นคือน่าจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำไป

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวรอบตัวอย่างน้อยในโซนภาคใต้ในขอบเขตของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็เริ่มขยับบีบขีดเส้นเช็กชื่อกันแล้วว่าใครอยู่ใครไปให้รีบสรุปภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีคนจ้องเสียบกันเพียบ แม้ว่าในเวลาต่อมา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคจะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งให้ทำแบบนั้น แต่อาการมันพอเข้าใจกันได้ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่าจนถึงเวลานี้ “ยังไม่มีใครลาออก”

นี่อาจเป็นบทสรุปในเบื้องต้นคือ ไม่มีการตั้งพรรค กปปส. แต่อดีต กปปส. ทุกคนยกเว้น สุเทพ เทือกสุบรรณ ยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปเหมือนเดิม อย่างน้อยก็รักษาพื้นที่ รักษาเก้าอี้กันเอาไว้ เพราะประเมินแล้วว่าหากออกไปข้างนอกโอกาสที่จะ “ตายหมู่” ย่อมมีสูง

ดังนั้น ถ้าประเมินสถานการณ์ในตอนนี้และต่อเนื่องไปถึงอนาคตอันใกล้ ความเคลื่อนไหวของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในเวลานี้ก็น่าจะคล้ายกับกลยุทธ์ “ม้าไม้เมืองทรอย” ที่ต้องแอบเข้าไปยึดพื้นที่ หรือต้องยึดที่มั่นในพรรคประชาธิปัตย์เอาไว้ให้ได้ก่อน เป็นการเปลี่ยนแผนจากเดิมที่คิดยึดโดยเปิดเผย แต่เมื่อประลองกำลังกันแล้วสู้ไม่ได้ก็คิดจะถอยออกไปสร้างบ้านใหม่ แต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นใจก็ต้องเลือกวิธีสงบนิ่งเอาไว้ก่อน อย่างน้อยก็ “รอโอกาส” ในวันข้างหน้า

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาโฟกัสย้อนไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าในเวลานี้มีบรรดาหลายพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน แต่นั่นเป็นพรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง ไม่ใช่พรรคมาตรฐาน เพราะหากจะให้ถึงเป้าหมายมีนก็ต้องมีพรรคใหญ่อย่างน้อยสักหนึ่งพรรคคอยหนุนหลัง เพราะทอดตาไปที่พรรคเพื่อไทย ประเมินแล้วปิดประตูตายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ โอกาสยังไม่ปิด อย่างน้อยหากทีมกปปส.ยังอยู่ ถึงตอนนั้นมันก็น่าคิด ว่ามั้ย!!


กำลังโหลดความคิดเห็น