เลขาฯ ปชป. ฐานะอดีต รมว. ICT ชี้ช่องรัฐ เร่งนำ “Big Data - ระบบดิจิตอล” อำนวยความสะดวกประชาชน หวังประเทศสูญเสียน้อยลง - ลดงบ - ลดปริมาณขยะ
วันนี้ (4 มี.ค.) นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ทันสมัย และดีกว่าในสมัยที่ตนเป็นรมว.ไอซีที เรื่องของระบบดิจิตอลพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเป็นระบบ สามารถแก้ไขปัญหา และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้ เงินใต้โต๊ะก็จะลดลง ซึ่งตนคิดว่าการใช้ดิจิตอลเพื่อปฏิรูประบบราชการ มาอำนวยความสะดวกประชาชน จะต้องรองรับด้วยการให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
“วันนี้ที่เทคโนโลยีดีกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เรื่องของดิจิตอลไทยแลนด์ ไม่ได้ทำแต่เรื่องธุรกิจเท่านั้น แต่ทำเพื่อปราบทุจริตคอร์รัปชันด้วย เช่น หากไปขออนุญาตเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากหน่วยงานต่างๆ เราต้องไปยื่นเรื่องโดยใช้เอกสาร และมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้และเขาก็จะดองเรื่องไว้ ถ้าใครบริการประชาชนดีก็จะรีบทำให้แล้วเสร็จ ใครเฉยๆ ไม่มีการหยอดน้ำมันเรื่องก็จะล่าช้า แต่ถ้านำระบบดิจิตอลเข้ามาใช้ ก็จะสามารถบอกได้เลยว่า ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ตรงโต๊ะของใคร อยู่ได้ไม่เกินกี่วัน หรือสมมติว่า ผมไปยื่นเรื่องให้กับกระทรวงหนึ่ง เพื่อขอรับความชวยเหลือ พอยื่นแล้ว ผมมีคิวอาร์โค้ดของตัวเองตามเลขบัตรประชาชน เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ผมยังไม่ได้เงินช่วยเหลือ ผมก็กดคิวอาร์โค้ดว่าเรื่องอยู่ที่โต๊ะใคร ขั้นตอนถึงไหน เงินต้องออกมา ถ้าไม่ออกมาแล้วใครไปถ่วงไว้ คนนั้นต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเคลียร์งานตัวเองให้หมดเพื่อความรวดเร็ว แล้วก็ส่งต่องานไปให้คนต่อไป กระบวนการนี้จะไม่มีการถ่วงเวลากัน ไม่มีการคั่งค้างหรือดองเรื่อง” นายจุติ กล่าว
เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากจะทำเรื่องนี้ต้องไปแก้กฎหมาย เพิ่มเติมของ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ให้มีการทำด้วยระบบดิจิตอล ซึ่งการแก้กฎหมายต้องเริ่มที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่อำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน ปราบปรามการทุจริต ร่นระยะเวลาทำงาน ก็จะสามารถรู้ได้เลยว่าเรื่องขั้นตอนอยู่ที่ไหน ช้าที่ใคร เร็วที่ใคร
“ยกตัวอย่างเช่น กรณีของรถยนต์ที่ราชการเช่า ก็ควรจะติด GPS ทุกคัน ให้ลงรายงานในล็อกบุ๊ก (logbook) พอถึงเวลา คอมพิวเตอร์จะกำหนดเลยว่ารถยนต์ที่วิ่งไปปฏิบัติหน้าที่ ไป - กลับ 75 กิโลเมตร สัปดาห์นี้ออกไป 2 กิโลเมตร หากวิ่งเกินเวลากำหนด ระบบก็จะแจ้งว่าผิดปกติ เรื่องนี้จะทำให้รัฐใช้น้ำมันน้อยลง เป็นต้น เรื่องนี้คนดีๆ ก็จะชอบ คนไม่ดีก็จะไม่ชอบ ซึ่งคนไม่ดีมีเป็นส่วนน้อย หรือกรณีการเบิกค่ายารักษาพยาบาล ที่ผ่านมา ไม่มีใครตรวจสอบว่าเบิกค่ายาไปเท่าไหร่ สมมติว่า เป็นข้าราชการแล้วเบิกยารักษาโรคกระเพาะ ระบบ Big Data ก็จะสามารถตรวจสอบว่าคุณเป็นโรคกระเพาะจริงหรือไม่ หรือเบิกให้ใคร เรื่องนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะที่ ทำให้ความสูญเสียน้อยลง ลดเงินงบประมาณ ลดปริมาณขยะ จึงอยากให้เร่งทำเรื่องนี้ภายใน 6 เดือน ทั้งระบบ Big Data ระบบการอำนวยความสะดวกและสวัสดิการประชาชน ให้ทำด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกันทั่วประเทศ” นายจุติ กล่าว