xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ท.ครบ 10 ปี มุ่งปราบทุจริตภาครัฐให้หมดจากประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “วิษณุ” เป็นประธานมอบนโยบาย ป.ป.ท. ครบรอบ 10 ปี คาดหวังขจัดทุจริตให้หมดสิ้นประเทศไทยอย่างยั่งยืน เพราะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จากสถิติรอบ 1 ทศวรรษ รับเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต 3 หมื่นกว่าคดี ชี้มูลความผิดแล้ว 696 คดี และ ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 21 คดี

วันนี้ (25 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค จ.นนทบุรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทภารกิจและการดำเนินงานของ ป.ป.ท. เนื่องในโอกาสครบรอบสถาปนา 10 ปี และมอบนโยบาย ประจำปี 2561 พร้อมโล่รางวัลข้าราชการดีเด่น และรางวัลการประกวดสื่อสร้างสรรค์ต่อต้านทุจริต โดยมี พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. และ ผู้บริหาร ข้าราชการในสังกัด กว่า 300 ราย เข้าร่วม

นายวิษณุ กล่าวในที่ประชุมว่า ขอยินดีกับ ป.ป.ท. ที่ครบรอบ 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ โดยตนได้รับมอบหมายดูแลในเชิงธุรการ เพราะหน่วยงานดังกล่าวต้องทำงานอย่างอิสระ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็พอจะทบทวนบทบาทหน้าที่ขององค์กร มีประสบความสำเร็จและล้มเหลว เพื่อแก้ไขต่อไปในอนาคต ซึ่งนโยบายการทำงานในปีที่ 11 และปีต่อๆ ไป ต้องยึดว่า “โกงเก่าหมดไป โกงใหม่ต้องไม่มี” ทั้งนี้ ป.ป.ท. ต้องมีแนวทางมุ่งมั่นขจัดทุจริตให้หมดสิ้นประเทศไทยอย่างยั่งยืน เนื่องจากมีเสียงปรารภว่าหน่วยงานนี้ต้องมีอยู่หรือไม่ เพราะอาจทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการทบทวนแล้วเห็นว่าสมควรมีต่อไปแต่ต้องปรับให้องค์กรเข้มแข็งและพัฒนาบุคลากร เพราะอาจต้องเจอกับเรื่องใหญ่ในอนาคต พร้อมแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สำหรับผลงาน ป.ป.ท. นั้น ถือว่าช่วยลดภาระของ ป.ป.ช. ในการดำเนินการขจัดคดีทุจริตเล็กน้อยและสามารถทำได้อย่างดี โดยตลอดช่วง 10 ปี ตนไม่ค่อยได้ยินประชาชนตำหนิถึงองค์กรนี้ แต่หากมีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ทุกรัฐบาลจะต้องมีนโยบายปราบทุจริตเพราะกระทบต่อความมั่นคงในชาติ และ ความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคม ยกตัวอย่าง นักธุรกิจต่างชาติจะมาลงทุนเมืองไทยแต่สู้จ่ายเงินใต้โต๊ะไม่ไหว จึงถอนตัวเนื่องจากมีความเสี่ยง หรือ กรณีการก่อสร้างอาคารและถนนสาธารณะ หากใช้วัสดุก่อสร้างไม่ได้คุณภาพมีการทุจริตการใช้งบประมาณก็จะส่งผลเสียในวงกว้างมากมาย อย่างไรก็ตาม ยังมี ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานโดยตำแหน่งจะบูรณาการร่วมกับ ป.ป.ท., สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

“ส่วนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการ ป.ป.ท. จะเป็นแบบอย่างความโปร่งใส สุจริต และเชื่อว่าจะมีหน่วยงานอื่นเริ่มทำตามแน่นอน รวมถึง ป.ป.ท. ต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนและสังคมด้วย โดยให้ยึดหลักทำงานว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ว่า จะต้องมีการให้ข้อมูลหรือแถลงข่าว โดยรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ท. ทำงานเงียบไป ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าคดีไหนเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ท.” นายวิษณุ กล่าว

ด้าน พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า จากสถิติการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - 2560 ระยะเวลา 10 ปี ป.ป.ท. ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต 32,616 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 19,043 คดี รับไต่สวนข้อเท็จจริง 3,989 คดี คณะกรรมการ ป.ป.ท. วินิจฉัยชี้มูลความผิดแล้วเสร็จ 696 คดี และ ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 21 คดี โดย ป.ป.ท. จะดำเนินการทำงานอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพที่สุด ตามนโยบายพร้อมสร้างความตระหนักรับรู้กับสังคมและประชาชนต่อไป

“ส่วนคดีสำคัญ เช่น การออกเอกสารสิทธิทับที่ดิน ส.ป.ก. ที่ อ.ปากช่อง โดยมีข้าราชการ ส.ป.ก. เข้าไปเกี่ยวข้อง ศาลพิพากษาจำคุกผู้กระทำผิดคนละ 10 ปี ซึ่งจะนำคดีดังกล่าวทำเป็นคดีต้นแบบในการตรวจสอบการทุจริต เนื่องจากเป็นคดีที่ใช้เวลาเพียง 2 ปี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การสอบสวนกระทั่งส่งฟ้องคดีจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ซึ่งจากผลการทำงานที่ผ่านมาพบว่าปัญหาการทุจริตไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้เพียงกลไกของรัฐ แต่ต้องร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องเข้ามาร่วมสอดส่องและแจ้งเบาะแส” พ.ท.กรทิพย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น