เมืองไทย 360 องศา
“กรณีที่ผมไปยืมเงินคุณกำพล 4 ครั้ง จำนวน 300 ล้านบาท นั้น ก็มีคนสงสัยว่าจะเอามาทำอะไร ต้องเรียนแบบนี้ไว้ก่อนว่าตลอดชีวิตรับราชการของผมเกือบจะเรียกได้ว่าอาชีพตำรวจนี่ถือว่าเป็นไซด์ไลน์อาชีพหลักๆ ผมคือทำธุรกิจ ซึ่งคนในแวดวงธุรกิจรู้เรื่องดี โดยเฉพาะเรื่องหุ้นผมนิยมมาก ผมมีรายได้ ผลกำไรจากการเล่นหุ้น และก็เสียหายเพราะการเล่นหุ้นเช่นกัน ดังนั้น ช่วงที่หมุนเงินไม่ทันก็ไปยืมเงินคุณกำพล”
“ส่วนการรวบรวมเงินไปคืนคุณกำพลจำนวน 300 ล้านบาทนั้น ต้องเรียนว่าการชดใช้บางครั้งถ้ามีเงินสดก็ชดใช้เป็นเงินสด ถ้าไม่มีเงินสดก็เอาที่ดินไปชดใช้เขาก็ยังมี โดยเฉพาะผมและคุณกำพลอยู่ในแวดวงพระเครื่อง บางครั้งก็มีการชดใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน แล้วแต่ผมกับคุณกำพลจะตกลงกันได้ นี่เป็นเรื่องปกติ ผมกับคุณกำพลมีการชดใช้หนี้กันทุกรูปแบบ รวมไปถึงหุ้นก็ยังมี อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือกระบวนการโอนเงิน กระบวนการใช้หนี้นั้น ทุกอย่างเป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านทั้งธนาคารและผ่านตลาดหลักทรัพย์”
นั่นเป็นคำให้สัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อและบางช่วงให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ทางช่องทีวี สปริง นิวส์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และทางสำนักข่าวอิศราได้ถอดแบบคำต่อคำมาเผยแพร่
ก็ต้องบอกว่ามันรู้สึกจุก และคาดไม่ถึงจริงๆ ว่า คนระดับที่เคยเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บังคับบัญชาตำรวจทั่วประเทศนับแสนนาย และที่สำคัญ การเป็นตำรวจคือ “ผู้รักษากฎหมาย” จะพูดออกมาแบบนี้
แน่นอนว่า คนที่ชื่อกำพล นั่นย่อมหมายถึง “กำพล วิระเทพสุภรณ์” เจ้าของสถานบริการอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท ที่ก่อนหน้านี้ ถูก “เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง” บุกเข้าจับกุม และถูกดำเนินคดีหลายข้อหา โดยเฉพาะคดี “ค้ามนุษย์” ซึ่ง “เสี่ยกำพล” ก็ได้หลบหนีหมายจับไร้ร่องรอยจนถึงบัดนี้
แน่นอนว่า สิ่งที่สังคมสนใจและตั้งคำถามเป็นหลักไปถึง อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง คนนี้ ก็คือ “มาตรฐานทางจริยธรรม” และ “สำนึกของผู้รักษากฎหมาย” คือผู้ที่เป็น “ตำรวจ” นั่นแหละ
แม้ว่าทั้งมาตรฐานทางจริยธรรม และจิตสำนึก จะต้องควบคู่กับมาตรฐานทางกฎหมาย แต่สำหรับบางอาชีพ จริยธรรม และจิตสำนึกจะต้องมีสูงกว่า และต้อง “มาก่อน” เรื่องทางกฎหมายเสียอีก เหมือนกับที่เราเคยได้ยินเรื่อง “การคบหาสมาคมในแวดวงอาชีพตุลาการ” ที่ต้องระมัดระวังอย่างสูง
และแม้ว่ากรณีของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ต้องเปิดเผยออกมานั้นบางครั้งมันเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” และเรื่องนี้คงปิดเงียบไปอีกนานหากไม่มีรายการจับกุมสถานบริการ อาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท ซึ่ง “ค้ามนุษย์” ค้าประเวณีเด็กหญิง ซึ่งบังเอิญว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปจับกุมครั้งนี้ “ก็ไม่ใช่ตำรวจ” แต่เป็นหน่วยอื่น และต่อมาก็เริ่มเป็นที่สังเกตอยู่นานว่า ฝ่ายตำรวจ “ยื้อสำนวน” อยู่หลายวันกว่าจะส่งมอบให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการสอบสวน
แน่นอนว่า เมื่อเป็นเรื่อง “ค้ามนุษย์” ที่สากลรังเกียจ มันก็ต้องมีการขอความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินของ “เสี่ยกำพล” ว่า โยงไปไหน และมีรายการบัญชีโอนเงินเข้าออกให้ใครบ้าง ซึ่งก็สร้างความตกตะลึงกันไม่น้อยเมื่อก่อนหน้านั้น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยออกมามาบอกใบ้มีการโอนเงินไปยังบัญชีของ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากไปกว่านั้น ทำให้สังคมอยากรู้ขึ้นมาทันทีว่า “ใคร”
แต่หลังจากนั้น ไม่กี่ชั่วโมง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ก็ออกมาเฉลยเอง ในทำนองว่า “ผมนี่แหละ” แต่ความหมายก็เหมือนกับการ “รับสารภาพ” เพราะมันเลี่ยงไม่ออก หากจะมีการสอบสวนกันต่อไป เพราะเส้นทางการเมืองถึงอย่างไรมันก็ปรากฏให้เห็นวันยังค่ำ ดังนั้น ต่อไปนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการสอบสวนขยายผลออกไปเพื่อหาข้อเท็จจริงกันอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจน
อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเรื่องของคดีทางกฎหมายที่ต้องพิสูจน์ตามพยานหลักฐาน แต่สำหรับ “จริยธรรม” ของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่เคยเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น “หัวหน้าตำรวจที่เป็นผู้รักษากฎหมาย” นาทีนี้ถือว่า “หมิ่นเหม่” และสูญเสียเครดิตในสายตาของสังคม เพราะการไปข้องแวะกับ “ผู้ต้องหาคดี” ที่โยงใยความผิดร้ายแรง และเป็นที่รังเกียจของสังคมทั่วไป มันก็ย่อมถูกตั้งคำถาม เพราะจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.สมยศ เอง ทำให้รับรู้ว่า ในช่วงที่เขาอ้างว่ามีการยืมเงิน 300 ล้านกันนั้น เขายังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นี่แหละจึงเป็นคำถามตัวโตๆ
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากคำถามที่ว่ามีความสนิทสนมชิดเชื้อกับ นักธุรกิจสถาบริการประเภทนี้มานาน ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นนายตำรวจระดับสูงคำพูดที่บอกว่า “อาชีพหลักๆของผมคือนักธุรกิจ อาชีพตำรวจคือไซด์ไลน์ และส่วนใหญ่ก็เล่นหุ้น" มันช่างเจ็บปวดสำหรับชาวบ้านที่ได้ฟังคนที่เคยเป็นถึงอดีตผู้นำตำรวจพูดออกมาแบบนี้ เพราะนี่มันหมายรวมถึงเรื่องวุฒิภาวะ นอกเหนือจากเรื่องคำถามทางจิตสำนึกทางจริยธรรม
แน่นอนว่า จากคำพูดดังกล่าว ทำให้เขาต้องออกมากล่าวขอโทษข้าราชการตำรวจที่พูดแบบนั้นออกไป และกลับมาพูดใหม่ทำนองว่ายึดมั่นในอาชีพตำรวจ ไม่ใช่ตำรวจไซด์ไลน์ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ได้รับผลสะท้อนกลับมาในทางลบค่อนข้างแรง แต่มันก็คงสายไปแล้ว เพราะพูดไปแล้วคำพูดมันก็เป็นนาย ในตอนแรกอาจะพูดเพื่อต้องการเคลียร์ว่า เงินในบัญชีนั้นเป็นการ “ยืมเพื่อน” และคืนไปแล้ว สั้นๆ ง่ายๆ เหมือนกับที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำมาอ้างเพื่อเอาตัวรอด แต่สังคมร้อง “ยี้” จนหมดราคาอย่างที่เห็น
ดังนั้น สำหรับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ในเรื่องทางกฎหมายก็คงต้องรอดูว่าจะมีการสอบสวนกันต่อไปหรือไม่ถึงความสัมพันธ์อันพิสดาร และลึกล้ำมานานกับ ผู้ประกอบการอาบอบนวดที่ธุรกิจแบบนี้ที่ถูกสังคมมองว่าเป็น “สีเทา” และหลายครั้งก็มักมีนักธุรกิจประเภทนี้หรือสถานบริการหลายแห่งที่มักมีข่าวเรื่อง “ส่วย” อยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ก็ต้องตั้งคำถามว่า “นี่มันเป็นจริยธรรม” ระดับไหนกันแน่!!