“ศรีสุวรรณ” นำผู้ประกอบการรถตู้ร้องผู้ตรวจฯ แก้ปัญหาจัดระเบียบทำผู้โดยสารรถวูบ ผู้ประกอบการ-ลูกจ้างตกงาน เผย บขส.เปลี่ยนวิธีขายตั๋วรวมส่อเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชน
วันนี้ (6 ก.พ.)ที่รัฐสภา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา พร้อมด้วยนายบุญส่ง ศรีสกุล นายกสมาคมรถตู้ต่างจังหวัด และผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัด เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายฐนภณ ธนวชิรนนท์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโสระดับสูง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กรณีมีคำสั่งมาตรการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะตั้งแต่ปี 2557 ย้ายรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าไปอยู่ยังพื้นที่ของสถานีขนส่ง 4 แห่ง คือ หมอชิต เอกมัย สายใต้ใหม่ และสายใต้เก่า ทั้งที่สถานที่ดังกล่าวยังไม่มีความพร้อมที่จะรองรับรถตู้โดยสารที่มีจำนวนมาก ทำให้ผู้โดยสารลดลงถึงร้อยละ 70 ผู้ประกอบการจำนวนกว่าครึ่งขาดทุน ต้องลดจำนวนรถตู้ลงเพราะคนใช้บริการน้อย อีกทั้งรายได้ไม่พอกับการส่งค่างวดรถ ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งที่ก็เคยเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีถึง 7 ครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า
หนึ่งในผู้ประกอบการรถตู้กล่าวว่า ที่มาร้องเรียนครั้งนี้เพราะรู้สึกเต็มที่กับปัญหาแล้ว จาก 1 ปี 4 เดือนที่ยอมย้ายไปตามคำสั่ง คสช. ผู้โดยสารก็หาย แต่บริษัทขนส่งมวลชน (บขส.) กลับได้เงินจำนวนมหาศาล ทั้งที่พวกเราคนทำงาน หลายคนถูกปลด เด็กๆ ในวิน 300-400 คนไม่รู้จะทำอะไร เพราะเราความรู้น้อย จึงต้องหากินกับอาชีพนี้ จึงมาขอความเป็นธรรม
เขากล่าวว่า ปัจจุบันรถตู้แบ่งเป็นหมวด จ., ช. และ ต. ที่กำหนดประเภทการจอดรับส่งผู้โดยสาร ซึ่งก็ควรจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้ทุกจุดเหมือนกัน แต่ คสช.ก็ไม่ดำเนินการ ประกอบกับเมื่อย้ายเข้าไปอยู่ในสถานีขนส่ง จากเดิมเคยมี 14 ที่นั่งก็ต้องถอดเบาะออกให้เหลือ 13 ที่นั่ง รายได้ก็ลดลงเรื่อยๆ และยังพยายามจะบังคับให้รถตู้ที่หมดอายุเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสโดยไม่ดูความพร้อมของผู้ประกอบการ ปัจจุบัน 13 ที่นั่งคนยังนั่งไม่เต็ม กลับเอารถกว่า 2,000 คันไปกองรวมกันไว้ในสถานีขนส่ง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเปิดเผยว่าได้รับผลกระทบจากการที่ บขส.จะเปลี่ยนระบบการขายตั๋วที่เดิมให้ผู้ประกอบการแต่ละวินขายเอง มาเป็นการขายตั๋วรวม ซึ่ง บขส.ได้มอบให้บริษัท ไอดี แม็กซิมั่ม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการและหักเปอร์เซ็นต์จากค่าโดยสารทั้งหมดร้อยละ 8 จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ก็ไม่ทราบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับการประมูลมาอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือเอื้อให้เอกชนบางรายที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการขายตั๋ววินทั้งหมด 190 สาย อีกทั้งในอนาคตยังมีแนวโน้มที่จะจัดเก็บเพิ่มเป็นร้อยละ 12-15% ส่วนในเรื่องจีพีเอสที่ถูกกำหนดให้ติดกับรถตู้โดยสารก็ยังมีปัญหาไม่ตรงตามจริง ทั้งสถานที่บอกตำแหน่ง และความเร็ว ทำให้ต้องถูกปรับ จึงอยากให้มีการตรวจสอบมาตรฐานและค่าบริการจีพีเอสที่ต้องเสียปี 3,000-3,600 บาท โดยในระหว่างที่ยังไม่ชัดเจน อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินประสานกับกรมการขนส่งทางบกชะลอเรื่องการบังคับใช้ไว้ก่อน