“กรุงเทพโพลล์” เผยระดับความสุขคนไทยมี “ระดับปานกลาง” หลัง คสช.เข้ามามีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.4 จากคะแนนเต็ม 10 ขณะเดียวกัน ยังกังวลเรื่องที่ยังไม่คืนความสุขมาให้ได้ ก็คือ ปากท้อง ราคาพลังงานแพง และเรื่องเลือกตั้ง
วันนี้ (3 ก.พ.) กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความสุข...ความทุกข์คนไทยภายใต้รัฐบาล คสช.” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,212 คน พบว่า
ระดับความสุขที่คนไทยได้รับหลังจากที่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.48 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน ซึ่งมีความสุขอยู่ในระดับปานกลาง
โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 62.9 ระบุว่า ความสุขที่รัฐบาล คสช. คืนให้ประชาชน คือ การดูแลบ้านเมืองให้สงบสุขไม่วุ่นวายไม่มีการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงรองลงมาร้อยละ 41.3 คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่าน “โครงการประชารัฐ” และร้อยละ 36.8 คือ การติดต่อสถานที่ราชการสะดวกรวดเร็วขึ้น
ส่วนเรื่องที่กังวลว่ารัฐบาล คสช.จะไม่สามารถคืนความสุขให้ได้นั้น ร้อยละ 47.5 ระบุว่า เรื่องการอยู่ดีกินดีของประชาชนรองลงมาร้อยละ 37.3 ระบุว่า เรื่องการควบคุมราคาน้ำมัน/ก๊าซหุงต้ม และร้อยละ 37.1 ระบุว่า เรื่องการจัดให้มีการเลือกตั้ง
เมื่อถามถึงระยะเวลาในการบริหารงานเพื่อคืนความสุขให้ประชาชนของรัฐบาล คสช. ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 48.2 มีความเห็นว่า ถ้าเร็วกว่านี้ก็จะดี รองลงมาร้อยละ 35.6 มีความเห็นว่าไม่ต้องรีบค่อยเป็นค่อยไปเรื่อยๆ และร้อยละ 16.2 มีความเห็นว่า ระยะเวลาเหมาะสมดีแล้ว
สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาล คสช. ทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่ในปี 2562 นั้น ร้อยละ 26.5 คือ การปราบปรามคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการ รองลงมาร้อยละ 22.7 คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของแพงค่าครองชีพสูง และร้อยละ 11.5 คือ ช่วยทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น