xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ใหญ่ WHO พบ นายกฯ พร้อมชมไทยมีบทบาทแข็งขันในประเด็นสุขภาพโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ผอ.ใหญ่ WHO เข้าเยี่ยมคาราวะ “ประยุทธ์” พร้อมถกเรื่องสาธารณสุข ชื่นชมไทยที่มีบทบาทในประเด็นสุขภาพโลกอย่างแข็งขัน ก่อนเตรียมประชุม PMAC

วันนี้ (2 ก.พ.) เวลา 13.30 น. นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) ประจำปี 2561 ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับผู้อำนวยการใหญ่ WHO ในโอกาสเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ โดยฝ่ายไทยจะสนับสนุนนโยบายของผู้อำนวยการใหญ่ WHO ทั้งในเรื่องหลักประกันถ้วนหน้า ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สุขภาพของผู้หญิง เด็ก วัยรุ่น และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน และหวังว่า WHO จะทำงานร่วมกับหน่วยงานไทยอย่างใกล้ชิด ตามที่ได้กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO - Royal Thai Government Country Cooperation Strategy - CCS) ต่อไป พร้อมอวยพรให้การประชุม PMAC ประจำปีนี้ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้

ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ชื่นชมไทยที่มีบทบาทในประเด็นสุขภาพโลกอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะความสำเร็จในการยุติปัญหาการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก กามโรค หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโรคเท้าช้าง รวมทั้งชื่นชมนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ภาคประชาสังคม มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ซึ่งสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างแท้จริง และหวังว่า ความร่วมมือระหว่างไทย - WHO ในมิติต่างๆ จะมีพลวัตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งฝ่ายไทยเน้นย้ำว่า ประเทศไทยต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตามเป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และไทยได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางสามารถประสบความสำเร็จด้านการขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มต่างๆ ได้ รวมทั้งมีระบบให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้ติดตาม ตามนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยรัฐบาลไทยยินดีที่จะเผยแพร่ประสบการณ์ความสำเร็จต่างๆ ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของประชากรในประเทศ แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาด้านสาธารณสุขที่มีความท้าทายอย่างมาก อาทิ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆ ที่รองรับกับปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งเน้นให้มีมาตรการป้องกันปัญหาทางสาธารณสุข โดยสนับสนุนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและลดความเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมขอชื่นชมผู้อำนวยการใหญ่ WHO ที่ได้นำที่ประชุมออกกำลังกายตามคำแนะนำของผู้แทนไทยระหว่างการประชุมผู้บริหาร WHO ณ เจนีวา ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้แสดงความประทับใจในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ของ นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม โดย WHO สนใจที่จะจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีแนวคิดจะจัดตั้ง ASEAN Centre for Active Aging and Innovation ขึ้นในประเทศ ภายในปี 2562 เพื่อเป็นกลไกสำคัญของภูมิภาคในการเชื่อมโยงความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันถึงการขยายความร่วมมือระหว่างไทย - WHO ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้มอบโล่เกียรติยศแก่ไทย เพื่อยกย่องผลงานที่สามารถขจัดโรคเท้าช้างให้หมดไปจากไทย เมื่อปี 2560

การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference - PMAC) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2561 ภายใต้หัวข้อ Making the World Safe from the Threats of Emerging Infectious Diseases ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล World Bank UNAIDS JICA และ Rockefeller Foundation รวมทั้ง WHO ด้วย โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561


กำลังโหลดความคิดเห็น