คสช.ไม่สน 26 อาจารย์ มธ.ลงชื่อให้ยุติดำเนินคดีต่อ 8 นักเคลื่อนไหวเดินเพื่อมิตรภาพฯ ย้ำต้องเดินหน้าตามกระบวนกฎหมาย ระบุเป็นกิจกรรมที่มีเจตนาทางการเมืองโจมตีรัฐบาลและ คสช. อ้างเตือนแล้วไม่ฟัง
วันนี้ (30 ม.ค.) พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ คณะอาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นำโดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต ลงชื่อร่วมกันจำนวน 26 คนยื่นหนังสือต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ทบทวนการดำเนินการต่อผู้จัดกิจกรรมเดินเพื่อมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดขอนแก่น ทั้ง 8 คน รวมถึงผ่อนปรนการแสดงออกของประชาชนที่เป็นไปอย่างสันติในขอบเขตของกฎหมายปกติ และโดยวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นั้น คสช.ขอเรียนชี้แจงว่า มูลเหตุเริ่มต้นจากกลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในนาม People Go network (ที่จัดกิจกรรมเดินเพื่อมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดขอนแก่น) ได้จัดกิจกรรมบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้อง มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและ คสช. มีผู้ร่วมในเหตุการณ์ประมาณ 150 คน นำโดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยา และมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ฐานร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว คือ พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา แต่หากยังไม่มาพบจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จะดำเนินการออกหมายจับทันที
“ณ เวลานี้การที่คณะอาจารย์ได้มีหนังสือให้พิจารณาทบทวนจึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ครูอาจารย์ผู้ซึ่งเป็นขุมพลังปัญญาอันสำคัญยิ่ง และสามารถชี้แนะการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมให้แก่นิสิต นักศึกษา และสังคม โดยใช้บรรยากาศการปรองดอง ความร่วมมือ ใช้สติปัญญาหันหน้าพูดคุยเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมกับบรรยากาศของบ้านเมือง และนำพาประเทศชาติและสังคมก้าวข้ามผ่านความยากลำบากในช่วงเวลานี้ และนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป”
พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า การกำหนดบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังมีผลบังคับใช้ เป็นเครื่องแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่าประเทศยังมีความจำเป็นในการมีกฎหมายเพื่อรักษาความสงบ และความมั่นคงภายในอยู่ ส่วนท่านใดจะตีความเช่นไรก็เป็นการเสนอความเห็นที่กระทำได้แต่มิได้หมายความว่าจะทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ไปได้
“คสช.และรัฐบาลได้ดำเนินงาน ตามโรดแมปที่วางไว้ตลอดมาและทุกฝ่ายทุกส่วนพยายามทำให้เกิดความเรียบร้อยอย่างดีที่สุด การแสดงออกที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือสร้างความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ความสงบ อาจจะเป็นปัจจัยทำให้การเดินหน้าสู่โรดแมปไม่ราบรื่นตามที่ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวัง จึงอยากร้องขอให้การแสดงออกทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายทุกประการอย่างถ้วนทั่ว ไม่ควรมีการเรียกร้อง หรือขอข้อยกเว้นว่าให้ใช้กฎหมายเฉพาะรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดเท่านั้น เพราะทุกคนควรอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม อีกทั้งผู้ดำเนินกิจกรรมย่อมรู้อยู่แก่ตนเองว่ากิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ เหมือนหรือแตกต่างจาก กิจกรรมรณรงค์ประเด็นทางสังคมอื่นหรือไม่
เขาย้ำว่า ในส่วนของ คสช.ก่อนที่จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี ได้มีการสังเกตการณ์ รวมทั้งพูดคุยเจรจาขอความร่วมมือเพื่อมิให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อทางกลุ่มยังยืนยันที่จะทำต่อไป คสช.จึงไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากสนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้จะพิจารณาว่าจะมีการดำเนินคดีหรือไม่อย่างไร ขึ้นกับกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ คสช.จะไม่ก้าวล่วง
ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า คสช.ขอขอบคุณในความปรารถนาดีและการมีส่วนร่วมทางความคิดอันเป็นประโยชน์ยิ่งของคณะอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและคสช. มา ณ โอกาสนี้ และ คสช.จะพิจารณาโดยรอบคอบอย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ความสงบสุขของบ้านเมือง จะได้ดำเนินต่อไปและหากมีผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ คสช.อย่างไรจะแจ้งให้ท่านทราบในโอกาสแรกทันที