xs
xsm
sm
md
lg

พสกนิกรเดินทางมาร่วมกราบพระบรมศพในหลวง ร.๙ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 87

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชาชนจำนวนมากพร้อมใจใส่ชุดดำไว้ทุกข์เดินทางมาร่วมกราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อเนื่องเป็นวันที่ 87

วันนี้ (28 ม.ค.) บรรยากาศในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันที่ 87 ตลอดทั้งวันยังคงมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด ต่างแต่งกายด้วยชุดดำเรียบร้อยจำนวนมาก เดินทางมาต่อแถวอย่างเป็นระเบียบ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพื่อขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยเจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูให้ประชาชนเดินแถวเข้าตั้งแต่เวลา 04.45 น. ก่อนเปลี่ยนเข้าทางประตูมณีนพรัตน์ ถนนหน้าพระลาน เวลา 08.30 น. เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูวิเศษไชยศรี

ดร.มนวิภา ประชัญคดี นายกสมาคมเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร กล่าวว่า รู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศล หลังจากในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคต สมาชิกของสมาคมอุทิศกายใจเป็นจิตอาสาแจกจ่ายอาหารให้ประชาชนที่มาสักการะพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาและไม่ละเลยเด็กเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดาร เห็นได้จากโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ทำให้นักเรียนที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เพราะการศึกษาสร้างปัญญาทำให้คนมีศักยภาพ

“งานของสมาคมนั้นมีหน้าที่ช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลน ทั้งทุนทรัพย์และสิ่งของ นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจัดโครงการกรองน้ำดื่มในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้นักเรียนมีน้ำสะอาดดื่ม ซึ่งการทำงานเพื่อสังคมนี้เราต้องการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานเล็กๆ ที่มีส่วนพัฒนาการศึกษาไทย” นายกสมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร กล่าว

นายเกิด มังกรแก้ว อายุ 72 ปี เกษตรกรปลูกอ้อย จาก อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เล่าว่าเดินทางมาพร้อมเพื่อนบ้านรวม 42 คน โดยเหมารถตู้ 3 คัน ออกจากบ้านเวลา 3 ทุ่ม มาถึงท้องสนามหลวงในเวลาตี 2 เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสมากราบสักการะพระบรมศพ ได้เข้ากราบตอน 9 โมงเช้า ถือว่ารอคิวไม่นาน ตอนนั่งอยู่เบื้องหน้าพระบรมโกศรู้สึกสบายใจ และเป็นบุญที่ได้ใกล้ชิดขนาดนี้ จำได้ว่า เมื่อราว 30 กว่าปีก่อนเคยรับเสด็จฯ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ท่านเสด็จฯมาพร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มาทรงฝังลูกนิมิตที่วัดในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตอนนั้นตัวเองกำลังไถดินเตรียมปลูกอ้อยอยู่ ก็รีบไปรอรับเสด็จฯ คนมากันเยอะมาก ปลื้มใจที่ได้เห็นท่าน เป็นบุญจริงๆ ตอนท่านสวรรคตเสียใจมาก ไม่นึกว่าเร็วขนาดนี้

นายบุญรัตน์ คำหล้า อายุ 58 ปี ผอ.โรงเรียนบ้านผ้าขาวโพนแพง อ.พังโคน จ.สกลนคร ที่พาคณะนักเรียนพร้อมครูมาแข่งขันวิชาการระดับประเทศด้านการทำอาหารจานเดียว ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เสร็จแล้วจึงถือโอกาสเดินทางมาถวายอาลัยในหลวง รัชกาลที่ ๙ ด้วยการกราบสักการะอยู่ด้านนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องเข้าคิวกราบเบื้องหน้าพระบรมโกศในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ด้วยเวลาจำกัด เพราะต้องเดินทางกลับในวันนี้ แต่เพียงแค่นี้ก็รู้สึกปลื้มใจที่ได้มาอยู่ใกล้ๆ ท่าน จะนำความรู้สึกนี้ไปบอกกล่าวพร้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านโดยเฉพาะเรื่องความประหยัด พอเพียงถ่ายทอดแก่ครูและนักเรียนที่ไม่มีโอกาสได้มา

“โรงเรียนเรามีนักเรียน 188 คน สอนเด็กออทิสติกด้วย เราจัดเนื้อหาเรื่องความพอเพียงเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย เน้นให้นักเรียนเข้าใจคำว่าประหยัดและปฏิบัติตามโดยได้แรงบันดาลใจมาจากในหลวง รัชกาลที่ ๙ ตั้งเป็นธนาคารโรงเรียนให้นักเรียนนำเงินมาฝากทุกเช้าตามกำลังจะมี ตอนนี้มียอดกว่า 4 - 5 แสนบาทแล้ว นักเรียนสามารถถอนได้เมื่อจบ ป.6 นำไปเป็นทุนในการศึกษาต่อระดับมัธยมต่อไป ตอนแรกพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ แต่พอเห็นข้อดีของการเก็บออมก็สนับสนุน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการทำเกษตรพอเพียงพานักเรียนปลูกผัก เช่น ต้นทานตะวันอ่อน ผักไฮโดรโปนิกส์ ใช้ทำอาหารกลางวัน เหลือจากนี้ก็นำไปขายในหมู่บ้าน เป็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ควบคู่การศึกษา” ผอ.โรงเรียน กล่าว

ด้าน ด.ญ.กมลพร ธงศรีนารถ อายุ 11 ปี ชั้น ป.5 บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมถวายความอาลัยในหลวง รัชกาลที่ ๙ แม้จะไม่ได้เข้าไปกราบภายในก็ตาม รุ่นตัวเองเกิดไม่ทันได้เห็นท่านเสด็จฯไปทรงงานตามที่ต่างๆ แต่เรียนรู้ผ่านหนังสือและโทรทัศน์ ทรงช่วยเหลือราษฎรทุกคนที่เดือดร้อน ทรงสอนหลายเรื่องอย่างความประหยัดและพอเพียงเป็นเรื่องที่หนูทำได้ง่ายๆ ทุกวันนี้เก็บเงินวันละ 10 บาท ฝากธนาคารโรงเรียน จะได้มีทุนเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นและเรียนหนังสือในภายภาคหน้า

นายสะแหล่ทู แสงกระแจ่มเรือง อายุ 49 ปี ชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านแม่แฮเหนือ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนเป็นชาวกะเหรี่ยงเดินทางมากับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจว่าในชีวิตนี้จะต้องมาถวายสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ ให้ได้ เพราะในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับแผ่นดินอย่างมหาศาล ได้เสด็จฯ ไปยังถิ่นทุรกันดารโดยไม่สนว่าหนทางจะยากลำบากเพียงใด ทรงงานหนักเพื่อให้พวกเรากินดีอยู่ดี

“เดิมทีหมู่บ้านแม่แฮ และหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ส่วนใหญ่ชาวบ้านเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง ประกอบอาชีพทำนาและทำไรเลื่อนลอย เช่น ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น และเลี้ยงสัตว์ พวกเรามักอพยพเคลื่อนที่หาที่เพาะปลูกจึงมีการบุกรุกเผาป่าไปเรื่อยๆ แต่ความเป็นอยู่ก็ยังไม่ดีขึ้น กระทั่งในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ มายังหมู่บ้าน และเห็นความยากลำบาก จึงมีพระราชดำริก่อตั้งโครงการหลวงพัฒนาเกษตรที่สูงแม่แฮ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ที่ได้พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาพื้นที่การเกษตรให้กับชาวเขาโดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไป” นายสะแหล่ทู กล่าว

ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านแม่แฮเหนือ กล่าวต่อว่า ที่โครงการหลวงได้พัฒนาอาชีพให้แก่ชาวบ้าน มีแปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว เช่น ผักกาดหวาน กะหล่ำปลีแดง พลับ องุ่น เป็นต้น สิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงทำให้แก่พวกเรานับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงที่เปลี่ยนชีวิตชาวเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ยากลำบากอีกต่อไป














































กำลังโหลดความคิดเห็น