xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลยันตั้ง คกก.ไทยนิยม แก้ปัญหาระดับฐานราก ดันประชารัฐ-ลดอุปสรรคพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“สรรเสริญ” เผยรัฐบาลตั้ง คกก.ไทยนิยมยั่งยืน มุ่งแก้ปัญหาระดับฐานราก เน้นจังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นศูนย์กลาง ดันประชารัฐชูศักยภาพ-ลดอุปสรรคพื้นที่ จับมือขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (28 ม.ค.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนว่า รัฐบาลมีความตั้งใจว่า ปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกด้าน ทั้งการทำงานของหน่วยราชการ เศรษฐกิจการค้าการลงทุน และการช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานราก

“นายกฯ เน้นย้ำว่า การพัฒนาความเจริญในทุกจังหวัดทั่วประเทศจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกส่วนตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ จนถึงตำบล เพื่อลงไปขับเคลื่อนกับประชาชน โดยแต่ละจังหวัดต้องไปพิจารณาว่าศักยภาพที่เป็นจุดแข็งและปัญหาอุปสรรคของตนเองคืออะไร และจะต้องนำสิ่งใดไปต่อยอดหรือปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า สำหรับโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการอำนวยการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ รมว.มท. เป็นเลขานุการ 2) คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 3) คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน 4) ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาระดับตำบล มีข้าราชการและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน และจิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ เป็นคณะทำงาน 5) คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับกรุงเทพมหานคร เขต และชุมชน

พล.ท.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า ปัญหาและอุปสรรคที่กรรมการทุกระดับจะลงไปแก้ไขนั้นครอบคลุมทุกมิติ เช่น ปัญหาปากท้อง การเกษตร ระบบชลประทาน ถนน ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อแต่ละจังหวัดรู้ว่าตนเองมีศักยภาพหรือปัญหาเรื่องใดแล้ว รัฐบาลจะส่งทีมงานลงไปเพื่อทำงานร่วมกับกรรมการระดับต่างๆ เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาแก้ไขปัญหา จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

“การขับเคลื่อนของแต่ละจังหวัดจะสอดคล้องกับการลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริงและเก็บรวบรวมข้อมูลไปพัฒนาอย่างตรงจุด เช่นที่ผ่านมา คือ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.แม่ฮ่องสอน โดยจะเน้นการทำงานแบบประชารัฐที่ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และประชาชนเข้ามาร่วมกัน ซึ่งคณะทำงานในพื้นที่มีถึง 7,463 ทีม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์ของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น