xs
xsm
sm
md
lg

มท.ชงใช้ ม.44 ลัดขั้นตอนเพิ่มโรงรับจำนำ 37 อำเภอ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เอื้อ “หลงจู้เอกชน” รายใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มท.จ่อชง หน.คสช.ใช้ ม.44 สนองนโยบายพี่ป้อม ลัดขั้นตอน “เพิ่มโรงรับจำนำ” 37 อำเภอ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุติดเจตนารมณ์เป็นกิจการที่รัฐต้องควบคุมดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามข้อเสนอ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผย ม.44 เว้นบังคับใช้กฎหมายบางประการ หวังเอื้อประโยชน์ “หลงจู้เอกชน” รายใหม่ ลดขั้นตอน-ระยะเวลาการขออนุญาต

วันนี้ (13 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอลดขั้นตอนทางกฎหมายในการขออนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำและการย้ายโรงรับจำนำในพื้นที่สามจังหวัดขายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยขอใช้อำนาจตามมาตรา 44 เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ มีโรงรับจำนำขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองเบตง เทศบาลเมืองปัตตานี เทศบาลเมืองนราธิวาส และเทศบาลเมืองสุไหงโกลก

ทั้งนี้ กรมการปกครองได้เสนอร่างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หัวหน้า คสช.) ฉบับที่..ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เรื่อง การขออนุญาต การอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำและการย้ายโรงรับจำนำในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ให้กระทรวงมหาดไทย เสนอ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 เพื่อพิจารณาเสนอร่างคำสั่งดังกล่าวต่อ คสช.

โดย รมว.มหาดไทยมีความเห็นว่า ควรให้การสนับสนุนร่างคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของแผนการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ประเด็นต่างๆ ที่จะเสนอออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โรงรับจำนำ ประชาชน และการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐ สมควรจะได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้รอบด้านก่อนดำเนินการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ต่อไป”

มีรายงานว่า ฝ่ายกฎหมายกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มีเจตนารมณ์ให้โรงรับจำนำเป็นกิจการที่รัฐต้องควบคุมดูแลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจวังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

ประกอบกับร่างคำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาสาระเป็นการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางประการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ประสงค์ขอตั้งโรงรับจำนำในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา รวม 4 จังหวัด จำนวน 37 อำเภอ ทั้งในส่วนของการลดขั้นตอนและระยะเวลาการขออนุญาตการกำหนดท้องที่และจำนวนโรงรับจำนำ ระยะห่างระหว่างโรงรับจำนำ และการลดต้นทุนการประกอบกิจการด้วยการลดขนาดอาคารสถานที่ตั้งและห้องมั่นคง

ฝ่ายกฎหมายระบุอีกว่า โดยผู้ประกอบการโรงรับจำนำในท้องที่อื่น ยังคงอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ครบถ้วนทุกประการ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว น่าจะไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

“อย่างไรก็ตาม หากกรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรการควบคุมโรงรับจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน ก็สมควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ตามแนวทางในบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ควรคำนึงถึงผลกระทบ รวมทั้งความพร้อม ในด้านบุคลากร งบประมาณ และองค์ความรู้ที่จะบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพด้วย”

มีรายงานว่า กรมการปกครองสรุปตอนหนึ่งว่า “สาเหตุที่ไม่มีผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำเอกชนในพื้นที่ เพราะกฎหมายไม่สอดคล้องกับหลักศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมในพื้นที่ จึงไม่เหมาะในการลงทุน และไม่สร้างแรงจูงใจ นอกจากนั้น ประกอบกับกิจการต้องมีบุคลากรหรือพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการรับจำนำ และต้องมีต้นทุนที่เพียงพอ สามารถรองรับให้บริการประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นได้”

มีรายงานด้วยว่า ก่อนก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จัดตั้งโรงรับจำนำเพิ่มในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนนำสิ่งของมาจำนำ ลดทอนความเดือดร้อนทางด้านการเงินเฉพาะหน้า เพราะมองว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ บางส่วนมาจากความเดือดร้อน ของคนในพื้นที่ รับจ้างก่อเหตุเล็กๆ น้อยๆ ให้กลุ่มผู้เห็นต่าง เผื่อนำเงินมาใช้จ่าย เช่น ช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ขณะนี้โรงรับจำนำมีเพียง อ.สุโหงโก-ลก จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอลัดขั้นตอน เนื่องจากการจัดตั้งโรงจำนำผ่านหลายขั้นตอนใช้เวลานาน และต้องมีคณะกรรมการ จึงได้ขอไปทางมหาดไทยว่า ให้โรงรับจำนำ อยู่ในกรรมการระดับผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติจัดตั้ง ซึ่งภาคเอกชนพร้อมลงทุน และโรงรับจำนำจะไม่มีเรื่องดอกเบี้ย เพราะผิดหลักศาสนา แต่จะมีค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ ในการนำของไปฝากจำนำ



กำลังโหลดความคิดเห็น