นายกฯ ประชุมหัวหน้าส่วนราชการนัดแรกปี 61 ประเดิมที่กระทรวงยุติธรรม ยันจะทำให้เกิดความยุติธรรม เพื่อป้องกันปัญหาเดิมๆ กลับคืนมา ย้ำส่วนตัวไม่ได้มีอะไรกับใคร มุ่งมั่นปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (5 ม.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2561 โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารของกระทรวงให้การต้อนรับ ก่อนการประชุมนายกฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ในการนำเสนอเทคโนโลยีการให้บริการประชาชนด้านการยุติธรรมของหน่วยงานในสังกัด ทั้งการให้ความรู้ด้านกฎหมาย การรับเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์ และการช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมผ่านแอปพลิเคชัน การให้คำปรึกษากฎหมายผ่านระบบวิดีโอคอลไลน์ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์กรมราชทัณฑ์ที่จะจำหน่ายระหว่างวันที่ 9-18 ก.พ.ที่บริเวณสนามหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม กทม.
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ถ่ายภาพร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม พร้อมกล่าวว่า ฝากทุกคนด้วย วันนี้มากระทรวงยุติธรรมก็ใกล้กับศาลรัฐธรรมนูญ ตนยืนยันว่าที่เข้ามาไม่ได้หวังอะไร แต่จะทำให้เกิดความยุติธรรม ขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลความยุติธรรม ตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีกฎหมายใหม่มากขึ้น ดังนั้นขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลจะปล่อยให้มีปัญหาแบบเดิมๆ เกิดขึ้นอีกไม่ได้แล้ว อยู่ที่เราทุกคนต้องช่วยกัน สัญญากับตนแล้วนะว่าจะช่วยกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นตัวแทนมอบแจกันดอกไม้และกล่าวอวยพรปีใหม่นายกฯ ขอให้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีกำลังกายและแรงใจที่เข้มแข็งในการบริหารประเทศต่อไป เป็นผู้นำตลอดไป และนายวิศิษฏ์ได้มอบของที่ระลึกให้แก่นายกฯ โดยนายกฯ ได้ถามว่า เกิน 3,000 บาทหรือไม่ นายวิศิษฏ์กล่าวว่า ไม่เกิน 3,000 บาทแน่นอน
ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า ขอบคุณ อะไรที่เป็นความปรารถดีต่อตนและครอบครัวถือเป็นกำลังใจให้ตนทำงานต่อไปไม่ว่าจะสั้นหรือยาว แต่การขอให้เป็นนายกฯ ตลอดไปคงลำบาก แม้เป็นเจตนาดี ส่วนตัวไม่เคยมีอะไรเป็นการส่วนตัวกับใครทั้งสิ้น มุ่งหวังเพียงทำงานปฏิรูปประเทศให้ได้และวางพื้นฐานให้แก่ทุกคน ในฐานะที่เป็นข้าราชการให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนในการทำงาน อยู่ได้ด้วยอย่างมีเกียรติยศและความมีศักดิ์ศรี ขอโทษที่ไม่ได้ให้เข้าอวยพรเหมือนทุกปี แต่มีพรให้ทุกคนเสมอ และตลอดมาจากนี้ขอให้ทุกคนทำงานทุกอย่างสำเร็จลุล่วง และต่อไปทุกคนต้องทำงานอย่างเข้มแข็งด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้มีปัญหาวนกลับมาที่เก่าอีก
จากนั้นเมื่อเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เป็นประจำช่วงทุก 2 เดือน มีการหารือและพูดคุยหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของการปฏิรูป ในการเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติว่าจะทำอย่างไรต่อไปอย่างไรในการที่จะนำพาทุกคนให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องของโอกาส ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็จะต้องมีความเท่าเทียม ในส่วนของความเป็นธรรมเราจะดูแลในเรื่องของความยากจน ให้กับผู้มีรายได้น้อยซึ่งได้สั่งการไปแล้วทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเมื่อถูกถามเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีโทษจำคุกจากคดีรับจำนำข้าวไปปรากฏตัวในห้างดังที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้แต่ส่ายหน้า
ด้านนางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)แถลงภายหลังการประชุมว่า นายกฯได้มอบนโยบายเร่งรัดให้ส่วนราชการให้ทำงานบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว โดยยึดหลักการปฏิรูประบบราชการ ให้หัวหน้าส่วนราชการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีการเร่งรัดงานสำคัญที่เป็นไปตามตัวชี้วัดของประเทศให้ไปสู่ประชาชนโดยเร็วในลักษณะประชารัฐ ร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งนี้ได้มีการตั้งงบประมาณประจำปี 62 โดยงบฯประจำปีที่กำลังใช้อยู่กำลังก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ที่จะมีการเร่งรัดตัวชี้วัดและประเมินหัวหน้าส่วนราชการอย่างเข้มข้น
เลขาธิการฯกพ.ยังกล่าวอีกว่า นายกฯได้ให้นโยบายว่าให้การทำงานในยุคต่อไปเข้าสู่ในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการให้ข้อมูลการบริการสาธารณะทางราชการผ่านระบบไวไฟที่มีการติดตั้งในจังหวัด ตำบลและหมู่บ้านโดย นายกฯให้หัวหน้าส่วนราชการจัดลำดับความสำคัญของงานที่แต่ละส่วนราชการมองเห็น เสนอให้นายกฯทราบภายใน 2 สัปดาห์
สำหรับแผนการดำเนินงานแก้ปัญหาความยากจนนั้น แต่ละกระทรวงมีมิติในการแก้ความยากจนของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งทุกกระทรวงจะมีแผนงานแก้ความยากจน ซึ่งนายกฯเน้นย้ำในเรื่องนี้ ขณะที่ตัวเลขตัวเลขค่าของค่าครองชีพประชาชนที่สภาพัฒน์สำรวจอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 2,000-2,600 บาทต่อเดือน ตัวเลขนี้อาจต้องปรับเปลี่ยน โดยจะนำตัวเลขนี้ไปเป็นข้อมูลทำงานในไตรมาสนี้นอกจากนี้นายกฯยังเน้นส่วนราชการให้ข้อมูลกับประชาชนโดยเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอให้งานเสร็จ
ถามว่า นายกฯได้พูดถึงโรดแม็ปเลือกตั้งในที่ประชุมหรือไม่ นางเมธินี กล่าวว่า นายกฯยืนยันว่าส่ิงที่ดำเนินการตามโรดแม็ปเป็นส่ิงที่นายกฯยึดตามเจตนารมณ์ แต่ในรายละเอียดจะมีการหารือกันต่อไป ถามย้ำว่า ยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.หรือไม่ นางเมธินีกล่าวว่า ไม่ได้ระบุว่าเดือนไหน
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการงานในแต่ละกระทรวงตามโร้ดแมพยังคงยึดแนวทางตามโร้ดแมพ ซึ่งต้องพิจารณาตามสถานการณ์ด้วย ส่วนนี้เป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกัน ส่วนประเด็นเรื่องเดือนหรือวันเวลาในการเลือกตั้งนั้น ไม่ได้มีการพูดชัด อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงยุติธรรมได้เสนอแผนงานสองเรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกเป็นการจัดทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาการก่ออาชญากรรมซ้ำ ของผู้ต้องหาและเยาวชนที่เป็นเด็ก ซึ่งจะพบว่านักโทษเมื่อได้รับการปล่อยตัวในปีแรก พบว่าจะกระทำความผิดซ้ำประมาณ 17% และในปีที่สอง ตัวเลขจะสูงขึ้นเป็น 22% และจะขยับขึ้นเป็น 27% ในปีที่สาม ถือเป็นการวัดตามค่ามารตฐานสากล ทั้งนี้การดำเนินการเราได้นำเอาข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดูว่าปัญหาและเงื่อนไขที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนมีความแตกต่างอย่างไร และการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่นี้ จะทำหน้าที่ในการทำนายสามารถสร้างกลไกตอบสนองผู้ต้องขังแต่ละคนได้ชัดเจนขึ้น คล้ายๆกับการทำประวัติเครดิต ของการกู้ยืมเงินในปัจจุบัน เป้าหมายที่จำทำให้เห็นผลในระยะเวลาสามปี คือการลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำประมาณ 10% ตรงนี้นายกฯได้รับทราบแผนงานนี้แล้ว
นายวิศิษฏ์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่สองที่กระทรวงยุติธรรมเสนอคือ เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในต่างจังหวัด โดยในแผนงานจะประสานกับกระทรวงมหาดไทย สร้างกลไกยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมาย ทนายความ และคำปรึกษาต่างๆ และปีนี้จะมีกระบวนการดังกล่าวทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม โดยมีเป้าหมายลดปัญหาข้อพิพาท และความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวย ที่จะต้องได้รับความยุติธรรม ทั้งนี้นายกฯไม่ได้เน้นย้ำคดีใดเป็นพิเศษ หากแต่เป็นการมองภาพรวมประชาชน คนยากจน กับคนร่ำรวยควรจะได้รับการปฏิบัติทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน