ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ยื่นหนังสือถึงประธาน สนช.จี้แก้กฎหมายลูกพรรคการเมือง ม.140 และ 141 ทำเหลื่อมล้ำ ชี้ 3 ปมใหญ่ สมาชิกพรรคพรรคใหม่กับพรรคเดิม แนะให้คนที่มีชื่อในข้อมูลของพรรคเดิมต้องยื่นความจำนงสมัครเป็นสมาชิกพรรคเดิม จ่ายค่าบำรุงพรรคก่อน แก้กระบวนการยื่นจัดตั้งพรรคใหม่ หนุนรีเซตสมาชิกทุกพรรค ด้าน “พรเพชร” แจงถ้าแก้อาจกระทบเวลาโรดแมป ชี้ช่องแก้ กม.ลูก ส.ส.จ่อดูตอนพิจารณา กม.ทำไมไม่มีเรื่องนี้
วันนี้ (12 ธ.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองและพรรคการเมือง
โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคการเมืองใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิกพรรคที่ต้องชำระและไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรค แต่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทำให้เกิดสมาชิกพรรคสองมาตรฐาน เพราะพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 (5) รับรองให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ให้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป โดยไม่ต้องชำระค่าบำรุงพรรคเป็นเวลา 4 ปี ขณะที่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ต้องชำระทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000 บาท 2. สมาชิกพรรคการเมืองเดิม ที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2550 ส่วนใหญ่เกิดจากการรวบรวมรายชื่อมาเป็นสมาชิกพรรค หลายกรณีพบว่าเจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกแอบอ้างชื่อไปเป็นสมาชิกพรรค แต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองใหม่ไปเหมารวมรับรองรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองเดิมให้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเจตจำนงจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดิมต่อไป
นายไพบูลย์กล่าวว่า 3. แบบฟอร์มการยื่นของจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่มีความยุ่งยากต้องเขียนข้อมูลส่วนตัวละเอียดเกินความจำเป็น เช่น ข้อมูลบิดา มารดา คู่สมรส บุตร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ทำให้มีขั้นตอนยุ่งยากและเสียเปรียบสมาชิกพรรคการเมืองเดิม ดังนั้นเพื่อให้การเลือกตั้งปลายปี 2561 มีความเป็นธรรม มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตลอดจนประธาน สนช. พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2560 โดยให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่ในข้อมูลของพรรคการเมืองเดิม ยังไม่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคจนกว่าจะยื่นความจำนงสมัครเป็นสมาชิกพรรคเดิม พร้อมชำระค่าบำรุงพรรคก่อน จึงจะมีสิทธิเป็นสมาชิกพรรค รวมทั้งให้แก้ไขกระบวนการยื่นจัดตั้งพรรคใหม่ให้มีความสะดวกรวดเร็ว เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกพรรค ถ้าจำเป็นต้องนำไปสู่การรีเซตสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดก็ต้องทำ โดยให้สมาชิกพรรคทุกพรรคมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ทุกพรรค
ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มี 2 ช่องทาง คือ 1. ครม.เป็นผู้เสนอ 2. สมาชิก สนช.เข้าชื่อเสนอขอแก้ไข ซึ่งมีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญพอสมควร และต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควร ตั้งแต่ขั้นตอบการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน การวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน และขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขจาก สนช.อีก 1 เดือน อย่างน้อยใช้เวลา 2 เดือนในการแก้ไข ยังไม่รวมขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้นหากคำนวณคร่าวๆ คงกระทบต่อโรดแม็ปการเลือกตั้งปลายปี 2561 แต่คงต้องไปศึกษารายละเอียดอย่างจริงจังอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มีอีกวิธีที่ทำได้ คือ การแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เปิดช่องสามารถแก้ไขเรื่องเงื่อนเวลาการดำเนินการของพรรคการเมืองได้ ความจริงปัญหาเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากมีการพิจารณา พ.ร.บ.พรรคการเมืองควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. และ พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อให้รู้ปัญหา ส่วนข้อเสนอของนายไพบูลย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมระหว่างสมาชิกพรรค คงต้องไปดูว่าในช่วงการพิจารณา พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีการเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่นายไพบูลย์ เสนอมาหรือไม่ หากมีการเสนอมาแล้วทำไมไม่หยิบยกมาพิจารณา