กกต.สอนศาลฎีกาอ้างกาบัตรแล้วหย่อนแบบนี้เรียกว่าลงคะแนนลับ ยันขัดรัฐธรรมนูญ จี้แก้ไขประชุมแล้วลงคะแนนใหม่ ดีกว่าปล่อยผ่านไปถึงขั้นทูลเกล้าฯ ถวาย เล็งชงเข้าที่ประชุมให้ทำเรื่องแจ้ง บี้ กก.สรรหาเผยเหตุผลเลือก กกต.ด้วย
วันนี้ (9 ธ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กรณีที่ศาลฎีการะบุว่าการกาในบัตรแล้วหย่อนในหีบเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยนั้น เราไม่เรียกว่าทำโดยเปิดเผย อย่างนี้เรียกว่าทำโดยลับ ท่านอาจจะเคยชินในอดีตที่เคยทำมาหรือเข้าใจผิดกันได้ไม่ผิดข้อกฎหมาย หรืออาจมองเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพราะจะทำให้รู้ว่าใครเลือกใคร เกิดความขัดแย้งได้ หรืออาจรับปากว่าจะเลือกแล้วไม่เลือก ดังนั้น วิธีนี้จึงขัดทั้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่ให้ดำเนินการโดยเปิดเผย จึงอยากให้แก้ไขขั้นตอน คือ เรียกประชุมใหม่แล้วลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยยกมือโหวต หรือใช้วิธีขานชื่อทีละคนเหมือนการประชุมสภา หากเทียบเคียงกับการเลือกตั้งประชาชนออกมากาบัตรแล้วหย่อนลงในหีบเรียกว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ คำว่าลับคือเราเลือกใครไม่มีใครรู้ วิธีการที่ศาลทำโดยกาบัตรใส่หีบแล้วไม่รู้ว่าใครเลือกใครจะเรียกว่าเปิดเผยไม่ได้ ต้องเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณะไม่ใช่คณะบุคคล ดังนั้นควรเรียกประชุมใหม่ใช้เวลาเพียง 15 วัน โหวตรอบเดียวจบ ดีกว่าปล่อยผ่านไปถึงขั้นทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปแล้วตรวจสอบว่ากระบวนการได้มาไม่ถูกต้อง แล้วทรงพระราชทานลงมาจะทำให้ไม่เหมาะสมได้ ควรทำให้เสร็จถูกต้องจะดีกว่าเพราะใช้เวลาไม่มาก ไม่ได้ทำให้ กกต.ชุดนี้อยู่นานขึ้น
“ประธาน กกต.มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามกฎหมาย เราช่วยประธานดู ถ้าใครทำผิดกฎหมายเราต้องท้วงติงให้ทำถูกกฎหมาย ถ้ารู้แล้วไม่ได้ดำเนินจะถูกร้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ วันอังคารหน้าจะหยิบยกเรื่องนี้เสนอที่ประชุม หากที่ประชุมเห็นด้วยประธาน กกต.จะทำหนังสือแจ้งศาลฎีกาเพื่อขอให้ชี้แจง และหากไม่ถูกต้องขอให้แก้ไข อันนี้เป็นโดยบทบาทหน้าที่เราในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย สนช.ไม่ได้อยู่ในจุดนี้ เพราะกกต.เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย” นายสมชัยกล่าว
นายสมชัยกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ในฝั่งกรรมการสรรหา ปกติการลงมติเลือกใคร กฎหมายมีประโยคว่านอกเหนือจากเปิดเผยแล้วต้องบันทึกเหตุผลการเลือก กกต.ไว้ด้วย หากจะให้โปร่งใสกรรมการสรรหาต้องเปิดเผยเหตุผลต่อสาธารณะ รอบแรกเลือกใคร ด้วยเหตุผลอะไร 5 คนที่เลือกเพราะอะไร น่าจะชี้แจงต่อสาธารณะ ถ้าไม่ชี้แจงผู้ที่มีส่วนได้เสียสามารถจะสอบถามได้ หรือกระทั่งสื่อมวลชนสามารถสอบถามได้ แต่มีผู้สมัครบางคนโทรศัพท์ไปสอบถาม ทราบว่าโทรศัพท์ไม่ว่างตลอด