เมืองไทย 360 องศา
น่าจะเป็นการวางแผนกันเอาไว้ล่วงหน้ากันนานแล้ว สำหรับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจ “หนี” ความผิด จาก “คดีรับจำนำข้าว” และระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ตามที่อัยการสูงสูดยื่นฟ้อง
ล่าสุดเธอก็ไม่ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนด 30 วัน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลับหลังจำคุกเป็นเวลา 5 ปีโดยไม่รอลงอาญา นั่นก็ทำให้เข้าใจไปได้ว่าเธอไม่ได้คิดที่จะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น
แม้ว่าที่ผ่านมาจะพยายามแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนในชั้นศาลมาจนเกือบครบถ้วน จนเกือบถึงวันสุดท้ายนั่นคือ วันพิพากษา แต่อาจเป็นเพราะเล็งเห็นถึงความผิดที่ชัดเจนจากพยานเอกสาร หลักฐานต่างๆ ที่นำมา หรืออาจเป็นเพราะที่ต้องใช้วิธีต่อสู้แบบนั้นมานานก็เป็นการ “แสดงละครตบตา” ให้ตายใจว่าไม่หนี
ขณะเดียวกัน เพื่อให้เข้าใจแง่มุมและขั้นตอนทางกฎหมายกันอย่างชัดเจนก็ต้องไปฟังคำอธิบายจาก นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล ผู้ตรวจการอัยการ รองหัวหน้าคณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดีจำนำข้าวและระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กล่าวว่า คดีจำนำข้าวที่อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยนั้น ขณะนี้ถือว่าคดีเป็นที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว เพราะไม่ได้มีการยื่นอุทธรณ์คดี โดยส่วนของโจทก์เอง นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อสส.ก็มีความเห็นเมื่อวันที่ 27 ต.ค.แล้วว่าศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามบทลงโทษที่ได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว จึงไม่ยื่นอุทธรณ์อีกต่อไป
“เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว จากนี้ก็เป็นเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินกระบวนการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์มารับโทษต่อไป จะไม่มีการนับอายุความแล้ว หากหลบหนีก็ต้องหลบหนีไปตลอด ส่วนเรื่องความรับผิดทางละเมิดที่กระทรวงการคลังเคยมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นเรื่องของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอื่นต้องว่ากล่าวขั้นต่อไป ทราบว่ากรณีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนกระบวนการ ในส่วนคดีทุจริตจีทูจีนั้น ขณะนี้อัยการกำลังพิจารณาประเด็นอุทธรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ไปแล้ว” นายสุรศักดิ์กล่าว
สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากบอกว่า การไม่อุทธรณ์คดีตามกำหนด มันก็เหมือนกับการแสดงเจตนาหนีเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว อีกทั้งคงรู้ดีว่าแนวโน้มน่าจะออกมาแบบไหน จึงเลือกแนวทางดังกล่าว ขณะเดียวกันเมื่อเลือกที่จะหนีไปต่างประเทศนั่นก็หมายความว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องการ “ขอลี้ภัย” หรือหาที่พักพิงถาวร หลังจากที่ต้องหนีไปตลอดชีวิต และสำหรับเธอการเลือกประเทศเพื่อขอพำนักอยู่อย่างถาวรก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่าเธอต้องการเลือกอยู่ประเทศไหน หรือขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศไหน
แน่นอนว่ารับรู้กันไปจากข้อมูลทางการที่เคยระบุออกมาก่อนหน้านี้ว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากหลบหนีออกจากประเทศไทยแล้วไปพักที่ดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับพี่ชายที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ที่รออยู่ที่นั่น จากนั้นก็ดอดไปพำนักที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากตามข่าวบอกว่ามีการซื้ออพาร์ตเมนต์หรูเอาไว้ที่นั่น และที่ผ่านมาก็เคยไปดูโรงเรียนเอาไว้ให้ลูกชายไว้ล่วงหน้าแล้ว และจะว่าไปแล้วเป้าหมายที่แท้จริงของเธอก็คือต้องการขอลี้ภัยแบบถาวรก็คือที่อังกฤษนี่แหละ เพราะจะว่าไปแล้วที่นี่น่าจะเหมาะกับวิถีชีวิตตามความจริงของเธอสำหรับการเดินช็อปปิ้งการใช้ชีวิตหรูหรามากกว่าการถูกเชิดให้เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือจะไปไกลแบบ “วีรสตรีประชาธิปไตย” เทียบเคียงกับอองซานซูจีก่อนหน้าที่จะถูกโจมตีและขอให้ริบรางวัลโนเบล
อย่างไรก็ดี หากนับเอาวันเวลาที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้หลบหนีออกจากประเทศไทยตามการคำนวณแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะเกินวันที่ 23 สิงหาคมมาจนถึงวันนี้ (31 ตุลาคม) หรือไม่ก็ตามกำหนดเวลาการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน คือภายในวันที่ 27 ตุลาคม เวลาก็ผ่านมา 2 เดือนแล้วเธอก็ยัง “กบดานเงียบ” ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาให้เห็นเลย พิจารณาแบบที่เห็นน่าจะสันนิษฐานว่ากำลังรอลุ้นคำขอลี้ภัยจากทางการอังกฤษว่าจะออกมาแบบหมู่หรือจ่า หรือมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่
เพราะเมื่อฟังจากปากคำของอัยการบางคนที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแบบนี้ก็ยืนยันว่า หาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “ไม่อาจขอลี้ภัยการเมืองได้” เพราะไม่เข้าข่าย เป็น “คดีทุจริต” หากเป็นแบบนี้มันก็ทำให้ยากต่อการขอลี้ภัยและการอนุญาตให้ลี้ภัย และหากมีการอนุญาต รัฐบาลอังกฤษก็ต้องมีคำอธิบายออกมาให้ชัดเจนว่ามีเหตุผลแบบไหน แต่เมื่อทุกอย่างยังนิ่งเงียบแบบนี้มันก็น่าหวาดเสียว เพราะอีกด้านหนึ่งเมื่อคดีจบสิ้นตามกระบวนการทุกขึ้นตอนแล้ว จากนี้ไปกระทรวงการต่างประเทศก็จะยกเลิกหนังสือเดินทางและติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย และมีฐานะเป็น “นักโทษ” เต็มขั้น ต้องถูกหมายจับติดตามตัว แม้ว่าในความเป็นจริงคงไม่ได้เข้มข้นเหมือนกับนักโทษทั่วไปก็ตาม แต่ก็นั่นแหละมันก็ไม่มีทางมีความสุขหรอก
ดังนั้น สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ การที่เธอยังไม่ได้สถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย” น่าจะเป็นทุกข์หนักยิ่งกว่าการเป็นนักโทษที่ต้องหนีคดีจนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศอังกฤษที่เป็นเรื่องใหญ่ และเดือดร้อนยิ่งกว่ากรณีของพี่ชาย คือ ทักษิณ ชินวัตร เพราะด้วยความเป็นผู้หญิงและความไม่คล่องตัวอะไรหลายอย่างก็คงทำได้ไม่เหมือน
ที่ตอนนี้ที่ยังเงียบนั่นก็แสดงว่าเธอยังต้องลุ้นกันจนตัวโก่งนั่นแหละ!