xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” สั่งดึง “นักโทษระดับกูรู” เข้าระบบงานอุตสาหกรรมประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ สั่ง ก.อุตสาหกรรม ศึกษาแนวทางดัน “กลุ่มดัดแปลงรถ” เข้าระบบอุตสาหกรรมรถยนต์ประเทศ ให้มีรายงานเป็นรูปธรรมภายในเดือน พ.ย.นี้ พร้อมเล็งดึง “นักโทษชั้นดีระดับกูรู” ช่วยงานระบบอุตสาหกรรมประเทศ เผยมีเอกชนนำร่องดึงนักโทษชั้นดีจากกรมราชทัณฑ์เข้าระบบอุตสาหกรรมบ้างแล้ว

วันนี้ (24 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือข้อสั่งการนายรัฐมนตรีถึงหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานราชการ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการประกอบหรือดัดแปลงรถยนต์ให้สามารถพัฒนาปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งขึ้น มีความถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพื้นฐานในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นให้คณะรัฐมนตรีทราบภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 ด้วย

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาแนวทางในการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักโทษที่มีความรู้ ความสามารถในวิชาชีพด้านต่างๆ สามารถประกอบวิซาชีพนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ รวมทั้งให้พิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการนำนักโทษดังกล่าวมาปฏิบัติงานนอกสถานที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้มีการนำความสามารถนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ

มีรายงานว่า เมื่อปี 2556 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ เคยมีแนวคิดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เจรจากับกรมราชทัณฑ์เพื่อขอนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศทั้งหมด 193 แห่ง มีนักโทษทั้งหมด 2.7 แสนคน แบ่งเป็นนักโทษชาย 2.3 แสนคน และนักโทษหญิง 4 หมื่นคน เข้ามาช่วยผลิตสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ขณะนี้กำลังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมผลิต เบื้องต้นกำหนดให้ค่าจ้าง 200 บาท/วัน สำหรับนักโทษที่ผลิตสินค้าขั้นพื้นฐานแต่หากเป็นนักโทษที่มีฝีมือด้านแรงงานเฉพาะ ก็อาจเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้ตามทักษะฝีมือต่อไป

ทั้งนี้ พบว่ามีภาคเอกชน เช่น บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม เปิดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ นิคมฯ อมตะนคร จังหวัดชลบุรี และนิคมฯ อมตะซิตี้ จังหวัดระยอง รับนักโทษชั้นดีเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ โดยให้เข้ามาทำงานในส่วนของการดูแลรักษา และพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในนิคมฯ ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ในรูปแบบเช้าไป-เย็นกลับ มีลักษณะงาน โดยไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือมากนัก และได้รับค่าจ้างเป็นรายวันเทียบเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่หักค่าใช้จ่าย

ล่าสุด บริษัทดังกล่าวมีนักพัฒนาจากกรมราชฑัณฑ์เข้ามาทำงานแล้วกว่า 200 คน จากข้อมูลที่ได้รับจากกระทรวงยุติธรรม พบว่าปัจจุบันมีนักโทษชั้นดีอยู่ประมาณหลายหมื่นราย และหากกรมราชทัณฑ์ต้องการเพิ่มปริมาณให้มากกว่านี้ทางอมตะก็ยินดี สามารถเปิดรับได้ 200-3,000 คนในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น