สตง.เปิดผลโพลถาม ปชช.ระดับท้องถิ่น ร้อยละ 50.09 “ไม่รู้จัก สคบ.” ชี้ผลตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคระยะ 10 ปี เรื่องร้องเรียนยังค้างขั้นตอน จนท.ตรวจข้อเท็จจริง 2,109 เรื่อง อยู่ระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ยชั้น จนท.1,230 เรื่อง ระหว่างรอให้ผู้ประกอบธุรกิจ ชี้แจงข้อเท็จจริง 725 เรื่อง และรอผู้ร้องชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 700 เรื่อง ตะลึง! อนุ สคบ.ระดับเทศบาล-อบต.9 จังหวัด ไม่เคยรับเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค แม้ได้รับงบประมาณสนับสนุนทุกปี
วันนี้ (2 ต.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด รวมถึงเพื่อทราบปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลกระทบของการดำเนินงาน เพื่อทราบสาเหตุและแนวทางการปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
จากการตรวจสอบการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ. โดยพิจารณาตรวจสอบกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของ สคบ. ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2558 พบประเด็นข้อตรวจพบ 4 ประเด็น โดยมีรายละเอียดดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 พบว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนล่าช้า จากการตรวจสอบผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของ สคบ. ตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2559 ข้อมูลเพียงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 พบว่า สคบ.ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแนวทางการปฏิบัติงาน เมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของเรื่องร้องเรียนก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน พบว่าเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คงค้างอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ 2,109 เรื่อง รองลงมาเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นเจ้าหน้าที่ 1,230 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียน ที่อยู่ระหว่างรอให้ผู้ประกอบธุรกิจชี้แจงข้อเท็จจริง/แนวทางการแก้ไขปัญหาจำนวน 725 เรื่อง และอยู่ระหว่างรอให้ผู้ร้องส่งเอกสาร/ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจำนวน 700 เรื่อง
สคบ.มีเพียงการวางแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่เจ้าของสำนวนต้องตรวจสอบเรื่องอายุความก่อนทุกครั้ง และหากพบว่ากรณีเรื่องร้องเรียนใดใกล้จะหมดอายุความจะต้องแจ้งให้ผู้ร้องไปใช้สิทธิทางศาลด้วยตนเอง และไม่มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภาพรวมแต่อย่างใด ขณะที่ฐานข้อมูลในระบบคุ้มครองผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จของ สคบ.มีเฉพาะข้อมูลเรื่อง ร้องเรียนในส่วนกลาง นอกจากนี้ การติดตามความคืบหน้าของเรื่องร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์จำกัดเฉพาะผู้บริโภคที่ร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น
สคบ.มีเพียงการดำเนินการวัดผลความพึงพอใจของผู้ใช้บริการผ่านทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1166 ที่เป็นเพียงการให้บริการให้คำปรึกษาและการติดตามผลการร้องเรียนเท่านั้น ขณะที่การติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจยังไม่ครอบคลุม ขณะที่พฤติการณ์ผู้ประกอบธุรกิจของ สคบ.ใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 และ 2558 พบว่า สคบ.ดำเนินการตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ยังไม่ครอบคลุมประเภทสินค้าและบริการที่มีเรื่องร้องเรียนมาก โดยเฉพาะธุรกิจบริการซึ่งมีการตรวจสอบพฤติการณ์ผู้ประกอบธุรกิจบริการ 4 ชนิด จากบริการที่มีเรื่องร้องเรียนสูงสุด 10 อันดับแรก และตรวจสอบพฤติการณ์ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพียง 4 ชนิด จากชนิดของสินค้าที่มีเรื่อง ร้องเรียนในกลุ่มเดียวกันทั้งหมด 7 ชนิด
”จากการตรวจสอบพบว่า มีสินค้าควบคุมฉลาก 8 ชนิด ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากไม่ได้ตรวจสอบระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2558 ขณะที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญามีการตรวจสอบสัญญาธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาเพียง 1 ธุรกิจ และตรวจสอบรายการในหลักฐานการรับเงินของธุรกิจ 3 ธุรกิจเท่านั้น”
มีรายงานว่า ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2558 สคบ.สามารถตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจได้ 38 จังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการให้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือประกาศของ สคบ.
สินค้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยดำเนินการทดสอบพิสูจน์ไม่มีความหลากหลาย และข้อมูลการเผยแพร่ไม่เป็นปัจจุบัน จากการตรวจสอบข้อมูลผลการทดสอบสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ของ สคบ.พบว่า กลุ่มสินค้าที่นำมาทดสอบในแต่ละปีไม่มีความหลากหลาย โดยระหว่าง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2557 มีการทดสอบสินค้าทั้งสิ้น 35 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทดสอบ สินค้าในกลุ่มของใช้และของเล่นสำหรับเด็กจำนวน 13 รายการ และกลุ่มของใช้ในครัวเรือน 12 รายการ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สคบ.ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์แต่อย่างใด
จากการตรวจสอบการรายงานผลการเฝ้าระวังและเตือนภัยสินค้าที่อาจเป็นอันตราย ต่อผู้บริโภคผ่านช่องทางเว็บไซต์ http://ocpb.go.th/ewtadmin/ewt/upvac_web/main.php?filename =index ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2560 พบว่า รูปแบบการนำเสนอข้อมูลการให้ความรู้ในการเฝ้าระวังเตือนภัยสินค้าที่อาจเป็นอันตรายไม่เอื้อต่อการสืบค้นของผู้บริโภค หากไม่ได้สืบค้นโดยละเอียดจะไม่สามารถทราบได้ว่าศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ชนิดใดบ้าง
ข้อตรวจพบที่ 2 สคบ.ยังไม่สามารถขยายเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนได้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากการตรวจสอบพบว่า มีเพียงเครือข่ายในสถานศึกษาที่ สคบ.ได้ดำเนินการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ขณะที่การส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชน สคบ.มีการส่งเสริมภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น
จากการสำรวจชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.จำนวนทั้งสิ้น 44 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด พบว่า โรงเรียนที่สุ่มตรวจสอบส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งชมรม โดยมีโรงเรียน 16 แห่งที่ยังคงดำเนินกิจกรรมชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเพียงกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น
ขณะที่ ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังไม่มีการจัดตั้งส่วนกิจกรรมของชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 แห่ง พบว่า ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ยังคงดำเนินกิจกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และได้รับการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมจาก สคบ.อย่างต่อเนื่อง
ข้อตรวจพบที่ 3 ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของผู้บริโภค จากการสัมภาษณ์ประชาชนของ สตง.จำนวน 529 คน ในพื้นที่จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ 10 จังหวัด พบว่า ประชาชนจำนวน 393 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 74.29 ไม่ทราบถึงสิทธิของผู้บริโภค ขณะที่ประชาชนจำนวน 265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.09 ไม่รู้จัก สคบ. และประชาชนที่ถูกสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงสิทธิผู้บริโภคของตนเองเมื่อถูกละเมิด โดยประชาชนจำนวน 220 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75.60 ของประชาชนที่ถูกสัมภาษณ์ที่เคยถูกละเมิดสิทธิ นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ประชาชนในประเด็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค พบว่ามีประชาชน 247 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.69 ที่เคยได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และมีประชาชนเพียง 30 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.67 ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคจากช่องทางของ สคบ.
ข้อตรวจพบที่ 4 คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค ยังดำเนินงานไม่ครบถ้วนตามอำนาจหน้าที่ จากการตรวจสอบ สคบ.ประจำจังหวัดทั้งประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 พบว่า มีคณะอนุกรรมการฯ ถึง 30 จังหวัดที่ไม่มีการจัดประชุมเลยตลอดทั้งปี ขณะที่คณะอนุกรรมการฯ อีก 34 จังหวัด มีการจัดประชุมเพียง 1-2 ครั้ง และในจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 9 จังหวัด พบว่า คณะอนุกรรมการคณะต่างๆ ไม่มีการดำเนินงาน โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการผู้มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดฯ ประจำจังหวัด
จากการตรวจสอบข้อมูลเรื่องร้องเรียนในส่วนภูมิภาคเปรียบเทียบกับส่วนกลาง พบว่า ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวนเรื่องที่ผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค ร้องเรียนกับคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศมีเพียง 1,188 เรื่อง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.06 ของเรื่องร้องเรียนในส่วนกลางในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม จำนวนเรื่องร้องเรียนในส่วนภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.17 และร้อยละ 63.79 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 และ 2558 ตามลำดับ สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของ คณะอนุกรรมการประจำจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบพบว่า มี 3 จังหวัดที่สามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้น้อยกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ จังหวัดน่าน ชลบุรี และภูเก็ต
จากการตรวจสอบพบว่า คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบทุกแห่งมีการดำเนินกิจกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่มีคณะอนุกรรมการฯ เพียง 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดภูเก็ต สงขลา ชัยภูมิ และอุดรธานี ที่ทำกิจกรรมตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ขณะที่การดำเนิน กิจกรรมการเสริมสร้างเครือข่ายมีเพียงจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น
คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบเกือบทั้งหมด ไม่มีการดำเนินกิจกรรม จากการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล/อบต.ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 35 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียง 3 แห่ง ที่เคยจัดประชุมคณะอนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล/อบต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 11 แห่ง ที่มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อรับเรื่องร้องเรียน
สำหรับเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ แต่ไม่เคยดำเนินการ ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น เมืองพัทยา ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์เมืองพัทยาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ในพื้นที่
ขณะที่ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สคบ.เขตและจังหวัด พบว่า ไม่มีการประสานงานการดำเนินงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล/อบต.ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 30 แห่ง จากทั้งหมด 35 แห่ง ให้ความเห็นว่าไม่เคยได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ สคบ. นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สุ่มตรวจสอบทุกแห่งไม่เคยได้รับการสนับสนุน/ประสานงานในการกำหนด แผนงาน/แนวทางการดำเนินงานตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ สตง.ยังพบปัญหาข้อจำกัดในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่กำหนด เช่น เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมถึงทักษะอื่นๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน แถมเจ้าหน้าที่ สคบ.บางท่านถูกให้ปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ.
“การรับเรื่องร้องเรียนของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำจังหวัดมีความคลาดเคลื่อน จากข้อเท็จจริง 2 ลักษณะ ได้แก่ เรื่องร้องเรียนของจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่ สตง.ได้รับรายงานจากสำนักประสานและส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด (สปจ.) มีความแตกต่างจากข้อมูลที่จัดเก็บจากเจ้าหน้าที่ สคบ.จังหวัด และการรายงานผลการดำเนินงานรับเรื่องเรียนทั้งหมดของศูนย์ดำรงธรรมไปรายงานผลให้ สคบ.ทราบ ส่งผลให้จำนวนเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในจังหวัดมีปริมาณมากผิดปกติ”