“จเร พันธุ์เปรื่อง” เขียนบทอำลาตำแหน่งในโอกาสที่จะเกษียณสิ้นเดือนนี้ ระบุ เป็นข้าราชการซื่อสัตย์มาโดยตลอด ตำแหน่งสูงสุด คือ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในปี 57 แต่แล้วปี 58 กลับถูกมาตรา 44 เด้งไปนั่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เหตุถูกใส่ร้ายทำการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า ซึ่งท้ายที่สุดผลสอบสวนไร้ความผิด โอดพบสัจธรรม ในรัฐสภา ไม่ว่าจะมาจากไหนมีโอกาสเป็นคนขี้โกงได้พอกัน ส่วนคนดีในที่สุดจะไปไม่รอด
นายจเร พันธุ์เปรื่อง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เขียนบทอำลาตำแหน่ง “สัจธรรมชีวิตราชการ” ในโอกาสที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ว่า
“ผมเข้าเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ เมื่อปี 2522 โดยมีความตั้งใจมาแต่ต้นว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน สิ่งที่ผมจะไม่ทำโดยเด็ดขาด คือ การร่วมมือกับ “คนขี้โกง”
ชีวิตราชการของผมได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ โดยไม่เคยคิด หรือทำการใดที่เป็นการเอาเปรียบราชการ และเพื่อนข้าราชการ จากตำแหน่งวิทยากร นิติกร หัวหน้าฝ่าย ผู้อำนวยการสำนัก ที่ปรึกษากฎหมาย รองเลขาธิการ และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุด ในปี 2557
การรับราชการทำให้ผมได้พบกับคนหลากหลายประเภท ทั้งคนดี และคนไม่ดี แต่การที่ผมสำเร็จปริญญาตรี โท และเอก ทางกฎหมาย บวกกับสำนึกดีๆ ที่พ่อ แม่ ผมสั่งสอนมา ทำให้ผมวางตัวให้คุ้นเคยกับคนดี และไกลจากคนไม่ดี โดยปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบ ราชการอย่างเต็มกำลัง เพื่อประโยชน์ของทางราชการ เป็นที่ตั้ง
และแล้ว วันที่ 15 ตุลาคม 2558 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2558 ให้ผมพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และย้ายมาเป็นข้าราชการพลเรือน ในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งมีข้อกล่าวหาผมตามมาอีกด้วย ผมมั่นใจในตัวเองตลอดมาว่า ข้อกล่าวหาทั้งหลายที่ผมได้รับนั้น เป็นเพียงการใส่สี ตีไข่ เพื่อให้ผมพ้นจากตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ของคนบางคน และในที่สุด ผลการสอบสวนก็ปรากฏว่า ผมไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด โดยคณะกรรมการสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ กับผม
ประสบการณ์ในชีวิตราชการของผม ทำให้ผมพบสัจธรรมว่า
1. คนที่เข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภา ไม่ว่าจะมาจากไหน หรือมีที่มาอย่างไร มีโอกาสเป็นคนขี้โกงได้พอๆ กัน
2. การเป็นข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน และไม่ยอมก้มหัวให้คนขี้โกงนั้น ในที่สุดก็จะไปไม่รอด เพราะคนโกงมีความสามารถในการใส่สีตีไข่ได้มากกว่า และกว่าจะมีการอธิบายให้ผู้มีอำนาจเข้าใจได้ ก็สายไปเสียแล้ว เพราะคนขี้โกงสามารถคิดกลโกงที่แยบยลได้มากขึ้นอยู่เรื่อยไป
ผมไม่แน่ใจว่า ประสบการณ์ในชีวิตราชการของผม จะเป็นประโยชน์กับใครได้บ้าง แต่ก็ได้แต่หวังว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ จะร่วมมือกันป้องกันกลโกงของคนขี้โกง ให้พ้นไปจากระบบราชการให้ได้ แม้ความหวังนั้นจะเลือนลางก็ตาม