ปลัดสำนักนายกฯ มอบหมาย “พงศ์พร” รับผิดชอบตรวจราชการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีผล 6 ก.ย. ด้านเจ้าตัวทำหนังสือถึง “ออมสิน”โต้คำสั่งย้าย ชี้อาจทำให้ราชการสำนักพุทธฯ เสียหาย ยืนยันยังเป็น ผอ.สำนักพุทธฯ อยู่ เหตุยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับโอน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไปแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 214/2560 ให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ตำแหน่งที่ 15 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ล่าสุด ในวันเดียวกัน (6 ก.ย.) นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 215/2560 มอบหมายให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ รับผิดชอบการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 8 ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป
มีรายงานข่าวอีกว่า วานนี้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ได้ทำหนังสือในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึงนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมรับคำสั่งย้ายจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ตามที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ มีบันทึกข้อความลงวันที่ 5 ก.ย.2560 แต่งตั้งให้นายกนก แสนประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีได้เมื่อ 29 สิงหาคม 2560 ที่ให้รับโอน พ.ต.ท.พงศ์พร ไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ พ.ต.ท.พงศ์พร ไม่อาจปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติได้นั้น
“กระผมขอเรียนว่า
1.การรับโอนและการให้ไปช่วยราชการข้างต้นนั้น มิได้เป็นไปโดยความรู้เห็นหรือความสมัครใจของเจ้าตัว
2.เมื่อมติคณะรัฐมนตรี มีผลให้กระผมพ้นจากตำแหน่ง นับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉะนั้น กระผมจึงยังอยู่ในตำแหน่งนี้และมีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งทุกประการ จนกว่าจะเข้าเงื่อนไขดังกล่าว
3.การขอและการให้ยืมตัวกระผมไปช่วยราชการ ทั้งที่รู้ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติข้างต้น อาจขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และอาจกระทบพระราชอำนาจได้
4.การอนุมัติให้ยืมตัวของท่าน พิจารณาเพียงว่าสำนักนายกรัฐมนตรีไม่เสียหาย แต่มิได้พิจารณาว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง (พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 46) เสียหายหรือไม่ อนึ่ง การให้ยืมตัวหัวหน้าส่วนราชการขณะที่มีรองหัวหน้าส่วนราชการซึ่งใกล้เกษียณ (1 ตุลาคม 2560) เหลือเพียงนายคนเดียวน่าจะทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีภารกิจกว้างขวางเสียหายได้
5.การอนุมัติให้ยืมตัวผมไปช่วยราชการ มิใช่กฎหมาย จึงไม่ทำให้กระผมพ้นจากตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง อีกทั้งในความเป็นจริงกระผมยังปฏิบัติราชการในตำแหน่งได้ โดยมิต้องนั่งประจำที่สำนักงานพระพุทธศาสนา ฉะนั้น การรักษาราชการแทนตามคำสั่งที่อ้างถึงจึงยังไม่เกิด เพราะการรักษาราชการแทนเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่การแต่งตั้งของผู้ใด นอกจากนี้การแต่งตั้งตามคำสั่งที่อ้างไม่จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากขณะนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพียงคนเดียว (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 46)
6. การถือปฏิบัติตามคำสั่งที่อ้างถึงในขณะนี้ จะทำให้เกิดการปฏิบัติราชการโดยปราศจากอำนาจทางกฏหมาย ทำให้เสียหายแก่ราชการร้ายแรงได้
7.การแจ้งให้กระผมไปช่วยราชการ ยังมิได้กระทำโดยผู้บังคับบัญชา
ทั้งนี้ กระผมได้มีหนังสือเรียนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ พศ.๐๐๐๐๑/๐๙๓๒๘ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ เพื่อแย้งกรณีดังกล่าวไว้ด้วยแล้ว รายละเอียดตามเอกสารที่แนบ”