ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย แขวนปมตัวแทนเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนเป็น กก.สรรหา กสม. “สุรชัย” ให้สองฝ่ายหาข้อมูลก่อนนัดหาข้อยุติ 6 ก.ย.ก่อนส่งเข้าสภา 15 ก.ย.
วันนี้ (4 ก.ย.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา (กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย) ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งตนเป็นประธาน กมธ. นางจุรี วิจิตรวาทการ กรธ.เป็นรองประธานคนที่ 1 พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล เป็นรองประธานคนที่ 2 นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาข้อโต้แย้งของประธานกสม.ที่ได้ทำหนังสือมายังประธาน สนช.เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ว่าร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น โดยประเด็นที่หนึ่งกสม.โต้แย้งว่าในมาตรา 8 เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ที่เข้ารับการสรรหาต้องมีประสบการณ์ในแต่ละด้านไม่น้อยกว่า 10 ปี ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 246 วรรค 2 หรือไม่ โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าประเด็นดังกล่าวตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งประธาน กสม.ก็ไม่ได้เสนอความเห็นแต่อย่างใด
สำหรับประเด็นที่ 2 ที่ กสม.โต้แย้งว่า มาตรา 11 วรรคห้า ที่กำหนดให้ในระหว่างที่ไม่มีกรรมการสรรหาที่มาจากผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนให้กรรมกาสรรหาเท่าที่เหลืออยู่สามารถปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนได้นั้นไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันค่อนข้างมาก ตัวแทนกสม.เห็นว่ามาตรา 246 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นกรรมการสรรหา แต่ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวกลับยกเว้นการแต่งตั้งได้ จึงถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตัวแทนจาก กรธ.ชี้แจงว่า ได้มีการเขียนยกเว้นไว้ตามมาตรา 11 วรรคห้า ว่าถ้าการแต่งตั้งตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนไม่สามารถแต่งตั้งได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบ 45 วันก็ให้กรรมการสรรหาที่เหลืออยู่สามารถดำเนินการสรรหาได้ทันที เพราะหากไม่แต่งตั้งตัวแทนดังกล่าวจะให้รอไปถึงเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ตัวแทน กสม.ก็ยังยืนยันว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะต้องมีตัวแทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษย์ด้วยจึงจะดำเนินการสรรหาได้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล ตนจึงขอให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปหาข้อมูลเพื่อมาชี้แจงต่อที่ประชุมอีกครั้งในการประชุมวันที่ 6 ก.ย.เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้จะมีการนัดประชุมอีก 2 นัด คือ วันที่ 11 ก.ย. เวลา 13.00 น. และวันที่ 12 ก.ย. เวลา 15.00 น. เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 15 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 15 ก.ย. โดยคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 12 ก.ย. จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 15 ก.ย.