เตรียมแจกคู่มือ “นิติบุคคล-เอกชน” ใช้คุมการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ตาม ม.123/5 ฉบับ ป.ป.ช. ก่อนนายกฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์รัฐ-เอกชนป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ 27 ก.ย.นี้ เผยกำหนดโทษ “ผู้ให้สินบน” คุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ1 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษ “นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน” ปรับตั้งแต่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
วันนี้ (20 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหนา คสช. สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (15 ส.ค.) ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางการติดตามและตรวจสอบภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนในการกระทำการทุจริตและประพฤติมอบในงานราชการ เช่น การให้สินบน รวมทั้งให้พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดให้ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยราชการภาครัฐแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและป้องกันปัญหาหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีในวาระต่อไปนั้น
ล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้เผยแพร่ร่างฉบับสมบูรณ์ คู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ของรัฐขององค์การระหว่างประเทศ (เพิ่มเติม) ตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดย ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยจะมีการจัดงานประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐและเอกชนในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Dinner talk) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2560 โดยจะมีการแจกคู่มือในวันนั้นด้วย
มีรายงานว่า สำหรับคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนนั้น มีสาระสำคัญคือ มาตรา 123/5 วรรคแรก และวรรคสอง เป็นเรื่องความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ และเป็นเรื่องความรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้สินบนดังกล่าว ทั้ง “บุคคลธรรมดา” และ “นิติบุคคล” สามารถมีความผิดอาญาได้ภายในมาตรานี้ ทั้งนี้ในความผิดเกี่ยวกับการรับสินบน จะดูส่วนของลักษณะการประกอบธุรกิจ ความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการบังคับใช้ได้จริง เป็นต้น
“นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดโทษอาญาสำหรับ “ผู้ให้สินบน” ได้แก่ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสำหรับ “นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน” ได้แก่ โทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2 เท่า ของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ”
มีรายงานด้วยว่า คู่มือฉบับนี้นอกจากจะให้ความเข้าใจในความผิดฐานให้สินบนและความรับผิดของนิติบุคคล ในมาตรา 123/5 วรรคแรก และมาตรา 123/5 วรรคสอง ยังมีการยกตัวอย่างการวินิจฉัยความผิดประเภทต่างๆ เช่น กรณีนิติบุคคลเป็นผู้ให้สินบน (โดยผู้แทนตามกฎหมายเป็นผู้ให้หรือผู้มีส่วนรู้เห็น) กรณีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนิติบุคคล เช่น พนักงาน เป็นผู้ให้สินบน โดยนิติบุคคลไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการให้สินบน
ในคู่มือยังระบุถึงหลักการพื้นฐาน 8 ประการ ในการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมฯ ประกอบด้วย 1. การป้องกันการให้สินบนต้องเป็นนโยบายสำคัญจากระดับบริหารสูงสุด 2. นิติบุคคลต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ 3. มาตรการที่เกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนต้องมีรายละเอียดชัดเจน 4. นิติบุคคลต้องนำมาตรการป้องกันการให้สินบนไปปรับใช้กับผู้ที่มีคามเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล 5. นิติบุคคลต้องมีระบบบัญชีที่ดี 6. นิติบุคคลต้องมีแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการให้สินบน 7. นิติบุคคลต้องมีมาตรการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำความผิดหรือกรณีมีเหตุสงสัย และ 8. นิติบุคคลต้องตรวจสอบและประเมินผลการใช้มาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะ
มีรายงานว่า มติ ครม.เมื่อ 15 ส.ค.ยังให้มีการจัดทำรายงานวิจัย “โครงการศึกษาความเหมาะสม และความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ ค.ศ. 1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ (OECD Anti-Bribery Convention)” และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช.ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือมาตรการเพื่อส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อไปใน 3 ประเด็น ได้แก่
(1) การกำหนดห้าม มิให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นรายจ่ายที่สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิ (Tax Non-Deductibility) (2) การกำหนดฐานความผิดที่ชัดเจนสำหรับบริษัทที่ไม่มีมาตรการกำกับดูแลด้านการบัญชี และ (3) การลดโทษให้กับผู้ให้สินบนที่รับสารภาพว่ากระทำความผิด