“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ชี้ช่อง ป.ป.ช.สางคดีความไม่ชอบมาพากลปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย แค่ผสานทางการต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลผ่านบัญชีแบงก์ว่า โอนค่านายหน้า 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ใคร 2 คนในไทย แล้วใช้อำนาจทางกฎหมายเรียกเข้าให้ถ้อยคำ ต่อยอดล่าตัวผู้อยู่เบื้องหลัง หวัง ป.ป.ช.ไม่ทำคดีขาดตอน หลังผู้รับผิดชอบสำนวนจะพ้นตำแหน่งเร็วๆ นี้
วันนี้ (13 ส.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala หลังจากสำนักข่าวอิศราเจาะความไม่ชอบมาพากลในคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย พบว่ามีบริษัทนายหน้าซื้อขายที่ดินปลูกปาล์มอินโดฯ จดทะเบียนอยู่โดมินิกัน บุคคลสัญชาติไทย 2 ราย - ต่างชาติ 1 ราย มีอำนาจลงนาม - เป็นพยาน ได้เงินส่วนแบ่งค่านายหน้าจากโครงการ PT.Az Zhara กว่า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากโครงการ PT.KPI กว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนี้
“กรณีซื้อที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย สำนักข่าวอิศรารายงานเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง
เรื่องที่ 1 ป.ป.ช.ได้รับข้อมูลใหม่ โดยปรากฏว่า เมื่อปี 2553 บริษัท HADISUMARTO & PARTNERS ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของ ปตท.ได้ทำหนังสือถึง ปตท.ขอให้ตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งในขณะนั้น แต่ข่าวไม่ได้ระบุว่า ปตท.ทำการตรวจสอบหรือไม่ และได้ผลอย่างไร
เรื่องที่ 2 ปรากฏข่าวอีกว่า มีการร้องขอให้ HSP ปกปิดข้อมูลปัญหาเรื่องการซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน แต่ HSP ปฏิเสธ จึงปรากฏว่ามีการใช้อำนาจ ให้ ปตท.ระงับการชำระเงินค่าบริการเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน โดยข่าวไม่ได้ระบุอีกเช่นกันว่า ใครเป็นผู้ร้องขอให้ HSP ปกปิดข้อมูล / ขอให้ปกปิดข้อมูลต่อผู้ใด / เหตุใด HSP จึงปฏิเสธ / และผู้ใดเป็นผู้ใช้อำนาจระงับการจ่ายเงินชั่วคราวดังกล่าว
เรื่องที่ 3 ข่าวอ้างว่า การซื้อขายโครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI นั้น มีบริษัทนายหน้าเกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบางแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับนักการเมืองไทย ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย!! แต่ข่าวมิได้ระบุชื่อนักการเมืองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นายหน้าดังกล่าวคือ บริษัท Kalimantan Sawit Lestari Ltd. (KSL) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในสาธารณรัฐโดมินิกัน อันเป็นศูนย์ฟอกเงินแห่งหนึ่ง (ทำนองเดียวกับปามามาเปเปอร์ส) บริษัท KSL ได้มีการเข้าทำสัญญากับผู้ขายทรัพย์สินอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ Mr. Agustiar (เจ้าของโครงการ PT.Az Zhara) และ Mr. Burhan (เจ้าของโครงการ PT.KPI)
ค่านายหน้าจาก Mr. Agustiar นั้น KSL จะได้รับส่วนแบ่งประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่านายหน้าจาก Mr. Burhan นั้น KSL จะได้รับส่วนแบ่ง ประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
บริษัท ดีลอยท์ พบว่า มีบุคคลสัญชาติไทยอย่างน้อย 2 ราย และบุคคลต่างชาติอย่างน้อย 1 รายเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยการลงนามระหว่าง KSL กับ Mr. Agustira นั้น มีบุคคลสัญชาติไทย 2 ราย เป็นผู้มีอำนาจลงนาม และมีบุคคลต่างชาติลงนามเป็นพยาน ส่วนการลงนามระหว่าง KSL กับ Mr. Burhan นั้น มีบุคคลต่างชาติเป็นผู้มีอำนาจลงนาม (คนเดียวกับที่ลงนามเป็นพยานในสัญญากับ Mr. Agustiar)
ผมขอตั้งข้อสังเกตเพื่อเป็นประโยชน์แก่ ป.ป.ช.ดังนี้
ข้อสังเกตที่ 1 การติดต่อขอข้อมูลจากทางการต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคดีนี้ ทำได้ไม่ยาก จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้เต็มที่ ครบถ้วน
ข้อสังเกตที่ 2 บุคคลสัญชาติไทยอย่างน้อย 2 รายดังกล่าว จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ไปยังผู้อื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่เบื้องหลังทางการไทยจึงต้องใช้อำนาจทางกฎหมาย เรียกบุคคลเหล่านี้มาให้ถ้อยคำ
ข้อสังเกตที่ 3 เงินที่จ่ายออกจากนายหน้า บริษัท KSL นั้น เนื่องจากเป็นเงินจำนวนสูง และต้องนำส่งข้ามประเทศจึงย่อมต้องผ่านบัญชีแบงค์ และมี audit trail ทางการไทยจึงจำเป็นต้องขอให้ทางการต่างประเทศ ตรวจสอบหาข้อมูลว่า โอนเมื่อใด / ให้แก่บุคคลใดในไทย / จำนวนเท่าใด
ข้อสังเกตที่ 4 เรื่องนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่เนื่องจากมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน ซึ่งอาจจะพ้นจากตำแหน่งเร็วๆ นี้ ตามผลของกฎหมายใหม่ ป.ป.ช. จึงจำเป็นต้องทำให้ประชาชนเห็น และเชื่อมั่นได้ว่ามีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน
อนึ่ง ผมเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเป็นสำคัญ และเป็นการอ้างอิงข้อมูลโดยยังไม่สามารถตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง”