xs
xsm
sm
md
lg

“ไก่อู” เผย นายกฯ บ่นคนไทยติดสุขสบาย ไม่กล้าเสี่ยง เป็นอุปสรรคชาติไม่พัฒนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ ชี้ อุปสรรคพัฒนาชาติเหตุคนไทยติดอยู่กับความสุขสบาย ไม่กล้าเสี่ยง เปลี่ยนแปลงใหม่ จี้มหา'ลัย วิจัยให้ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่ม ชูใช้ ม.44 ปฏิรูปทั้งระบบ พร้อมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 300 แนะสร้างการลงทุน เกษตร อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์

วันนี้ (5 ส.ค.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างหนึ่ง โดยระบุว่า แม้ประเทศไทยจะโชคดี เพราะตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนไทยติดอยู่กับความสุขสบาย (Comfort zone) ไม่กล้าเสี่ยง หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ๆ เช่น เกษตรกรนิยมปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆ ภาคเอกชนไม่กล้าที่จะลงทุนเพื่ออนาคต โดยมักคำนึงถึงผลกำไรระยะสั้น เพื่อให้อยู่รอดเท่านั้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่มักมุ่งเน้นผลิตงานวิจัยที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

“นายกฯ ต้องการให้มหาวิทยาลัยวิจัยของไทย แสดงตัวออกมาร่วมสร้างชาติ ด้วยการสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนภาคธุรกิจเอกชน หรือภาคอุตสาหกรรมก็จะต้องลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น และใช้ประโยชน์จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยไปร่วมคิดและปฏิบัติงาน (Talent mobility) ในองค์กร เพื่อต่อยอดสร้างนวัตกรรม ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลพยายามอย่างมากที่จะผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการวางกลไกและออกมาตรการต่างๆ ที่ส่งเสริมการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง เช่น การใช้อำนาจตาม ม.44 ปฏิรูประบบวิจัยของประเทศทั้งระบบ ตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานวิจัยต่างๆ ให้ประสานสอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 300 ให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปขอยกเว้นภาษีได้สูงสุด 3 เท่าของที่จ่ายจริง การจัดทำบัญชีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทยให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ โครงการเน็ตประชารัฐที่ช่วยสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้กับชุมชน การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ (Competitiveness Fund) ช่วยสนับสนุนทุนให้ภาคเอกชน กระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

“นายกฯ ยังมีแนวคิดด้วยว่า การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากนั้น ทุกภาคส่วนควรใช้โอกาสนี้สร้างการลงทุน โดยเฉพาะด้านการเกษตร อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์ ที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง อย่างไรก็ตาม การทำงานของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ประสบความสำเร็จ จึงขอความร่วมมือจากสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจเอกชนในการปรับวิธีคิด เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น