xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกายกข้อกฎหมาย ยุบเพิ่ม 3 บอร์ดจัดทำนโยบาย/ประเมิน “สำนักงาน สวทน.” ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฤษฎีกายกข้อกฎหมาย ยุบเพิ่ม 3 บอร์ดจัดทำนโยบาย/ประเมิน “สำนักงาน สวทน.” ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 62/2559 เรื่องปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ หลังให้โอนไป “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” แม้บอร์ดชุดใหญ่ที่เคยแต่งตั้งอ้างเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ฯ ปี 2551

วันนี้ (8 พ.ค.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในบันทึกสำนักงานฯ เรื่องเสร็จที่ 565/2560 กรณีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มีหนังสือที่ วท 6001/179 ลงวันที่ 6 ก.พ. 2560 ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน 3 ประเด็น เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯและอนุกรรมการฯ ที่ สวทน.แต่งตั้งขึ้น

โดยก่อนหน้าที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หน.คสช.) จะมีคำสั่งที่ 62/2559 เรื่อง ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมีคำสั่งให้ยุบเลิก สวทน. โอนไปเป็นของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาตินั้นคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (กวทน.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด โดยเป็นบุคคลภายนอก ประกอบด้วย คณะกรรมการประเมินการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี, คณะอนุกรรมการจัดทำดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์กำลังคนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 และมาตรา 12 ว่าด้วยการจัดทำนโยบายฯ และประเมินองค์กรฯ

สรุปความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้ว่า กรณีที่ สวทน.สอบถามว่า คณะกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะจะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ฯ หรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ที่ กวทน.มีคำสั่งแต่งตั้งขึ้นนั้น กรณีของคณะกรรมการประเมินการดำเนินงานของ สวทน.เป็นการแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามาตรา 36 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เช่น การจัดทำรายงานประจำปี ซึ่งบัญญัติให้การประเมินการดำเนินงานของ สวทน. จะต้องดำเนินการโดยบุคคลภายนอกที่ กวทน.ให้ความเห็นชอบ และดำเนินการตามที่ กวทน.มอบหมาย

ดังนั้น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ได้กำหนดให้ยุบเลิก สวทน.ไปอยู่กับสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เว้นแต่อำนาจในมาตรา 12 และมาตรา 36 ให้โอนไปเป็นของ “คณะกรรมการบริหาร สวทน.” แต่ไม่ได้กำหนดรองรับคณะกรรมการและอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ ที่ กวทน.แต่งตั้งไว้ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อย่างไร ดังนั้น คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด จึงต้องถูกยกเลิกไปด้วย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้ยกเรื่องเสร็จ 2 เรื่องที่วินิจฉัยไว้ กรณีการตีความมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 “กรณียุบหน่วยงานใน สำนักงานคณะส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” และกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมาเป็นตัวอย่างในการวินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น