xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” แย้มพิสูจน์ รธน.60 ใช้ได้จริงหรือไม่ ปัด ป.ป.ช.ทำสำนวน 7 ตุลาอ่อน รออ่านคำพิพากษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
คณบดีนิติศาสตร์ ม.รังสิต ชี้รัฐธรรมนูญใหม่ยึดหลักต่างประเทศ ใครไม่พอใจคำพิพากษาศาลฎีกาให้อุทธรณ์ได้ แย้มพิสูจน์ใช้ได้จริงหรือไม่ หวังพิจารณาคดี 7 ตุลารอบคอบ รออ่านคำวินิจฉัยศาลฎีกา ขอใจเย็นๆ ยันสำนวนไม่ได้อ่อน ทนายทำสุดความสามารถ

วันนี้ (4 ส.ค.) ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ยึดหลักของต่างประเทศที่ให้ทุกคนที่ไม่พอใจคำตัดสินของศาลฎีกาฯ สามารถอุทธรณ์ไปที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ความมี ความเป็น ความอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าใช้บังคับได้จริงหรือไม่ หวังว่า จะพิจารณากันได้รอบคอบ

นายวิชากล่าวว่า ทั้งนี้จะต้องไปดูในคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ก่อน อยู่ดีๆ จะไปโต้แย้งโดยไม่ดูสำนวนความของศาลทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ตนทราบว่าประธาน ป.ป.ช.ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ให้ศึกษาแล้ว จึงต้องรอฟัง ขอให้ใจเย็น มีเวลาถึง 30 วัน อย่างไรก็ตาม ขณะที่ตนก็รออ่านคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ฉบับเต็มอยู่เช่นกัน เพราะละเอียดมาก จะมาบอกว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยแบบนี้จะอุทธรณ์ได้เลยหรือไม่ ยังไม่ได้ เพราะต้องอ่านคำวินิจฉัยก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าสำนวนของ ป.ป.ช.ในครั้งนี้อ่อนเกินไปหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ไม่ได้อ่อน เพราะเมื่อครั้งตนยังทำหน้าที่เป็น ป.ป.ช.ได้ร่วมทำงานกับคณะชุดเดิม เราทำหน้าที่กันเต็มที่แล้ว ทนายความที่ดำเนินคดีแทนก็ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เราต้องไม่มองใครในแง่ร้าย เพียงแต่ความเห็นอาจไม่ตรงกันได้ แม้แต่มติในองค์คณะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีเองยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน แล้วจะให้คนทั้งหลายมีความเห็นตรงกันได้อย่างไร จึงอย่าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องของการเสนอความเห็นที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ เรื่องของความยุติธรรมมองได้หลายแง่หลายมุม แต่ต้องยุติโดยคำพิพากษาของศาล ซึ่งเมื่อเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ได้ ต้องมาดูว่าประเด็นไหนควรโต้แย้งหรือไม่โต้แย้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น