xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ชี้ รธน.60 เปิดทางอุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ ได้ทันที แต่เป็นสิทธิ ป.ป.ช.จะยื่นหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ รธน.ปี 60 เปิดทางให้ ป.ป.ช.อุทธรณ์คดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ทันทีแม้ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ แต่เป็นสิทธิของ ป.ป.ช.ว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ กฎหมายไม่ได้บังคับ

วันนี้ (2 ส.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 195 ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าว

นายอุดมกล่าวว่า การอุทธรณ์สามารถกระทำได้ทันที แม้ในเวลานี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม เพราะในทางปฏิบัติหากมีการยื่นอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนตัวคิดว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสามารถใช้วิธีพิจารณาตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ไปได้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและฉบับใหม่มีหลักการไม่แตกต่างกันมากนัก

เมื่อถามว่า ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลฎีกาจะมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า กรณีนี้เป็นหลักการเดียวกับอัยการ อัยการไม่ได้ถูกบังคับ ดังนั้น คงไปบังคับ ป.ป.ช.ไม่ได้ เพราะการมีช่องทางในการอุทธรณ์คดี ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยถือเป็นเรื่องของการใช้สิทธิ
กำลังโหลดความคิดเห็น