รองนายกฯ แจงกฎหมายเจ็ดชั่วโคตรกันข้าราขการรับผลประโยชน์ รวมถึงเอกชนที่นั้งในบอร์ดรัฐ ยันไม่ได้ห้ามรับสิ่งของ แต่ต้องดูตามกฎเกณฑ์ ตัดปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน ทำสีเทากลายเป็นดำ ลั่นคิดว่าจับยากก็เสี่ยงดู
วันนี้ (2 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ... หรือกฎหมายเจ็ดชั่วโคตร ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เรียกว่ากฎหมายเจ็ดชั่วโคตรแล้ว เพราะปัจจุบันมีความผิดเพียงชั่วโคตรเดียวคือเจ้าตัว ในกรณีรับสิ่งของในระหว่างดำรงตำแหน่ง โดยครอบคลุมถึงคู่สมรส บุพการี ลูก เขย สะใภ้ กฎหมายฉบับนี้เพื่อป้องกันการรับผลประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ เป็นข้อห้ามที่รวมไปถึงข้าราชการทุกระดับ, เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ, องค์การมหาชน, รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว., นักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงเอกชนที่เข้ามาเป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐ ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับสิ่งของเกินที่กฎหมายกำหนดระหว่างเดินทางไปราชการต่างประเทศต้องนำกลับมาไว้ที่หน่วยงานเพื่อให้เป็นสมบัติของราชการ
“เรื่องรับสิ่งของไม่ใช่ห้ามโดยเด็ดขาด แต่ว่าต้องดูเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากปฏิเสธสิ่งของที่มูลค่าเกินเกณฑ์กำหนดไม่ได้ ต้องนำกลับมาไว้ยังส่วนราชการ ส่วนที่บอกว่าห้ามใช้ซองตราครุฑตรงนั้นเวอร์ไป เพราะจริงๆ แล้วคือห้ามใช้ของหลวง และของหลวงนี้ก็ใช้ได้ ครม.จะกำหนดกฎเกณฑ์ สำหรับกระทรวงและหน่วยงานจะกำหนดกฎเกณฑ์ของตัวเองด้วยว่าจะใช้ของหลวงอย่างไรได้บ้าง” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ต่างจากกฎหมายของ ป.ป.ช. เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.เน้นเอาผิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่เรื่องของผลประโยชน์ขัดกันนั้นยังไม่มีข้อห้าม ที่ผ่านมาเรารู้สึกด้วยตัวเองว่าผิด แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นจึงทำให้เรื่องที่เป็นสีเทานี้กลายเป็นสีดำ หลายประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายฉบับนี้ ป.ป.ช.จะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อตอบข้อหารือหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ เพื่อสร้างความสบายใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นบรรทัดฐานในการรับรู้
เมื่อถามว่า กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นบอร์ดในหน่วยงานรัฐ จะทำให้เอกชนไม่อยากเข้ามาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กฎหมาย ป.ป.ช.มีข้อห้ามอยู่แล้ว ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงตำแหน่งที่เอกชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย ในกฎหมายจะห้ามข้าราชการอนุมัติโครงการเพื่อประโยชน์ของตน ยอมความหรือถอนคดีเพื่อประโยชน์ของตน แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อประโยชน์ตน อย่างไรก็ตาม ข้าราชการสามารถรับตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษาในภาคเอกชนได้ แต่ต้องไม่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ส่วนโทษของกฎหมายฉบับนี้มีทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อถามว่า การเอาผิดข้าราชการรับสิ่งของเกินเกณฑ์กฎหมายกำหนดถือเป็นเรื่องยาก นายวิษณุกล่าวว่า “ถ้าคิดว่าจับยากก็ลองเสี่ยงดู กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ระวังขึ้น”