นายกฯ ชี้ หน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาเลขา สมช. คนใหม่ แจงโยกย้าย หน. ส่วนราชการแล้ว 90% ยันไม่เข้าข้างคนไม่ดี เผย โยก ปลัดเกษตรฯ เพื่อความเหมาะสม เตรียมงัด ม.44 สอบ ขรก. ส่อทุจริตล็อตใหม่ เผยลงโทษไปแล้ว 40%
วันนี้ (25 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีกระแสข่าวว่าจะโยก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ข้ามห้วยจากกระทรวงกลาโหม มาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. แทนคนใน ว่า ยังไม่เห็นเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง จะพิจารณามา ส่วนจะเป็นใครอย่างไร ก็แล้วแต่ ให้เสนอมา
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมติ ครม. แต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าส่วนราชการหลายหน่วยงาน ว่า ตอนนี้ได้มีการแต่งตั้งออกมาร้อยละ 90 เหลืออีกเพียง 3 - 4 หน่วยงานที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา รัฐบาลนี้มองทั้งเรื่องความอาวุโส ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอยู่แล้ว ไม่ใช่อย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องไปกังวลให้เขาทำงานให้ได้ก็พอ คนเรามีทั้งคนชอบไม่ชอบ เพียงแต่ชอบมากหรือชอบน้อย ก็เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ เรามีกรอบวินัยการทำงานอยู่แล้ว ถ้าแต่งตั้งมาแล้วทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ ตั้งเป็นนายแล้วสั่งเฉยๆ ไม่ตามเรื่อง ไม่ติดตามนโยบาย ไม่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลตามที่รัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรีต้องการ ก็อยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ก็ย้ายใหม่มา
“จริงๆ แล้ว ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ไปยุ่งกับการแต่งตั้งพวกนี้เท่าไร ส่วนมากมาจากรัฐบาลก่อน ตอนนี้ก็มาดูทุกหน่วยงานเป็นคนๆ ไป และได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบความประพฤติแล้วว่า มีคดีความอะไรติดตัวหรือไม่ ถ้ายังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีคดีความก็ไม่ให้ตั้ง ก็เอาตามนี้เป็นที่ตั้ง ผมไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว แต่ผมก็รักเขาถ้าเขาทำงานดี ผมไม่เข้าข้างคนไม่ดีอยู่แล้ว” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ ครม. โยก นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ พ้นจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นไปเพื่อความเหมาะสม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ คสช. จะใช้มาตรา 44 ตรวจสอบข้าราชการที่ส่อไปในทางทุจริตรอบใหม่ ว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ได้เสนอรายชื่อข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตรอบใหม่มาแล้ว โดยมีต้นทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฯลฯ และจากนี้จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ในคำสั่งจะยังไม่ระบุว่ารายชื่อข้าราชการเหล่านี้ มีความผิดหรือไม่ แต่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน หากพบว่าผิดจะต้องลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา ส่วนรายชื่อที่มีการดำเนินการมาแล้วในห้วงที่ผ่านมา พบว่า มีร้อยละ 40 ที่ได้ลงโทษไปแล้ว ส่วนที่เหลือยังต้องสอบสวนต่อไป หากตรวจสอบพบว่าไม่มีความผิด รัฐบาลจะคืนความเป็นธรรมให้