xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลวินิจฉัย กม.อาญานักการเมือง ขัด รธน. ปัดทำเพื่อ “ปู”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมกฎหมาย พท.ยื่นเรื่องผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัยกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขัดรัฐธรรมนูญ เหตุจำกัดสิทธิผู้พิพากษาอาวุโส ห้ามไม่ให้เป็นองค์คณะเกิน 3 คน ปัดยื่นหวังช่วยยื้อคดี “ยิ่งลักษณ์” อ้างแค่ต้องการทวงคืนความยุติธรรม

วันนี้ (24 ก.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจารแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย บทบัญญัติของมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีคำอภิปรายของนายเกรียงไกร จึงจตุรพิธ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ระหว่างการพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวสรุปว่า ผู้พิพากษาเห็นว่ามาตรา 13 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 219 วรรคสี่ ที่กำหนดให้มีองค์คณะ 9 คน แต่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกลับบัญญัติจำกัดสิทธิของผู้พิพากษาอาวุโสให้มีอยู่ในองค์คณะได้ไม่เกิน 3 คน ซึ่งหากเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่าการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เป็นการพิจารณาคดีที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด รวมถึงคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนนตรี กรณีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังจะตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการตรากฎหมายไม่ชอบในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ในการพิจารณาของสนช.ปี 2550 เนื่องจากในวันที่ลงมติวาระ 3 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 111 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง เท่ากับมี สนช.อยู่ในที่ประชุมเพียง 112 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 239 คน จึงถือว่าเป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ โดยศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยร่างกฎหมายที่มีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบในการพิจารณาของ สนช.ชุดเดียวกันมาแล้ว 7 ฉบับว่าเป็นการตรากฎหมายที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายเรืองไกรยอมรับว่า เหตุผลหนึ่งที่ยื่นเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ได้ต้องการที่จะยื้อคดีนี้ เพียงอยากให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาข้อเท็จจริงที่ตนนำเสนอเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อการพิจารณาคดี ซึ่งหากผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญจะมีผลทำให้คดีที่ตัดสินไปก่อนหน้านี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเหล่านั้นย่อมได้ประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น