ผู้ว่าฯ 76 จังหวัด เบิกจ่ายงบปกติ ปี 60 แล้ว 220.6140 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.06 พบ “พิษณุโลก” เบิกแก้ปัญหาเร่งด่วนต่ำสุด ร้อยละ 13.44 ส่วน จ.ปทุมธานี เบิกตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ต่ำสุดร้อยละ 33.59 ส่วนกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ เบิกจ่ายตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ต่ำสุดร้อยละ 18.71
วันนี้ (20 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยรับทราบผลการเบิกจ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดประจำปี 2560 (ณ วันที่ 14 ก.ค. 2560) โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 297.8744 ล้านบาท เบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 220.6140 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.06
ทั้งนี้พบว่า จังหวัดที่มีผลเบิกจ่ายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาความเร่งด่วนของประชาชนในจังหวัด เรียงลำดับต่ำสุด 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก เบิกจ่ายร้อยละ 13.44 จ.ระนอง เบิกจ่ายร้อยละ 22.86 จ.กาญจนบุรี เบิกจ่ายร้อยละ 26.02 จ.จันทบุรี เบิกจ่ายร้อยละ 29.98 จ.พัทลุง เบิกจ่ายร้อยละ 33.28
ส่วนผลการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (งบปกติ) ได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 26,432.70 ล้านบาท หลังการโอนเปลี่ยนแปลง ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2560 คงเหลืองบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 25,358.45 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายในภาพรวม จำนวน 14,439.46 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.94 (ข้อมูลจากระบบ GFMIS ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2560)
ทั้งนี้ยังพบว่า จังหวัดที่มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (งบปกติ) ต่ำสุด เรียงลำดับจากน้อยไปมาก จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ปทุมธานี ร้อยละ 33.59 จ.สิงห์บุรี ร้อยละ 35.50 จ.ระนอง ร้อยละ 36.27 จ.นนทบุรี ร้อยละ 36.98 จ.กำแพงเพชร ร้อยละ 37.20
ส่วนจังหวัดที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ จ.บึงกาฬ ร้อยละ 88.52, จ.ชัยนาท ร้อยละ 85.92, จ.สมุทรสาคร ร้อยละ 85.91, สระแก้ว ร้อยละ 83.31 และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 83.13
ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (งบปกติ) ต่ำสุด เรียงลำดับจากน้อยไปมาก จำนวน 5 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ) เบิกจ่ายร้อยละ18.71 ภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร) เบิกจ่ายร้อยละ 22.55 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง) เบิกจ่ายร้อยละ 22.84 ภาคเหนือตอนล่าง 2 (พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) เบิกจ่ายร้อยละ 31.77 ภาคกลางตอนบน 1 (พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี ) เบิกจ่ายร้อยละ 32.40
กลุ่มจังหวัดที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ร้อยละ 70.18, ภาคกลางตอนกลาง ร้อยละ 67.72, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ร้อยละ 64.46, ภาคกลางตอนล่าง 1 ร้อยละ 58.73 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ร้อยละ 58.61
ทั้งนี้ จากภาพรวมปัญหา/อุปสรรค ที่ทำให้การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (1) การขออนุมัติการใช้พื้นที่จากหน่วยงานส่วนกลาง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ กรมทางหลวง (2) การขอโอนเปลี่ยนแปลงรายการ/โครงการ (3) ไม่มีผู้เสนอราคา (4) ผู้รับจ้างดำเนินการล่าช้า (5) มีการเพิ่ม/ลดเนื้องาน (6) กิจกรรม/โครงการ ดำเนินการตามห้วงเวลา (7) ขาดแคลนบุคลากรต้องยืมตัวจากหน่วยงานอื่น เป็นต้น
สำหรับจังหวัดที่ถูกตัดโอนงบประมาณฯ สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ (1) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 103,939,800 บาท (2) จังหวัดอุบลราชธานี 88,124,500 บาท (3) จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 60,829,900 บาท และกลุ่มจังหวัดที่ถูกตัดโอนงบประมาณฯ สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ (1) ภาคกลางตอนล่าง 1 จำนวน 89,500,000 บาท (2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 78,820,300 บาท และ (3) ภาคใต้ ฝั่งอันดามัน จำนวน 70,462,200 บาท