xs
xsm
sm
md
lg

สตง.หวั่น กทม.รายได้หด จี้ต้นสังกัดคุม “ค่าเช่าที่ดิน/สถานที่/สัญญาเช่าทรัพย์สิน” ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง. หวั่น กทม. รายได้หด แนะคุม “ค่าเช่าที่ดิน / สถานที่ / สัญญาเช่าทรัพย์สิน” ทั่ว กทม. หลังพบ หน่วยงานในสังกัด กทม. ละเลยการต่อสัญญาเช่าใหม่ ทำสัญญาเช่าหมดอายุ ไม่ปรับอัตราเพิ่มใหม่ ด้าน “กทม.” เวียนหนังสือแนวทางฯ กำชับต้องต่ออายุสัญญาเช่าก่อนสิ้นสุดไม่น้อยกว่า 60 วัน จี้หน่วยงานทำสัญญาภายใน 7 วัน ขู่หากพบเกิดความเสียหายต้องมีผู้รับผิดชอบ

วันนี้ (15 ก.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เวียนหนังสือแจ้ง หน่วยงานในสังกัด กทม. ให้ถือปฏิบัติตาม “แนวทางปฏิบัติการขออนุมัติต่ออายุสัญญาเช่าและการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินของ กทม.” ภายหลัง นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าฯ กทม. สั่งการให้หน่วยงานของ กทม. ที่มีการให้เช่าอาคารสถานที่ของ กทม. ถือปฏิบัติตาม

ก่อนหน้านั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายได้ประเภทค่าเช่าสถานที่ของ กทม. เนื่องจากมีบางหน่วยงานดำเนินการต่ออายุสัญญาเช่าสถานที่ล่าช้าจนล่วงเลยกำหนดสิ้นสุดของสัญญาเช่า และยังพบว่า ผู้เช่าบางรายเมื่อครบสัญญาแล้วไม่มีการทำสัญญาใหม่ แต่ยังคงชำระค่าเช่าในอัตราเดิม โดยไม่มีการปรับอัตราเพิ่มค่าเช่าใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ กทม. เกิดความเสียหาย และสูญเสียรายได้ที่น่าจะได้รับอย่างเหมาะสม

โดยหนังสือเวียนฉบับนี้ ให้หน่วยงานดำเนินการตาม “แนวทางปฏิบัติการขออนุมัติต่ออายุสัญญาเช่าและการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินของ กทม.” ตามหนังสือสำนักการคลัง ที่ กท 1302/4003 ที่รองผู้ว่าฯ กทม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา คือ การขออนุมัติต่ออายุสัญญาเช่าก่อนสิ้นสุดอายุสัญญาเช่าเดิมไม่น้อยกว่า 60 วัน และเมื่อได้รับอนุมัติให้ต่อสัญญาแล้วให้หน่วยงานดำเนินการทำสัญญาภายใน 7 วันทำการ นับถัดจากวันที่ได้รับเรื่องคืน หากมีการดำเนินการล่าช้าจนล่วงเลยกำหนดสิ้นสุดของสัญญาเช่าและเป็นเหตุให้ กทม. ได้รับความเสียหาย จะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

“หน่วยงานของ กทม. จะต้องเข้มงวดและยึดแนวทางการทำสัญญาเช่าทรัพย์สินของ กทม. เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการจัดเก็บรายได้ ทั้งนี้ หากพบว่ารายใดมีความเสียหายเกิดขึ้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหนังสือเวียนระบุ

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักการคลัง กทม. ได้รับข้อสั่งการจาก รองผู้ว่า กทม. ตามมติสภากรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของ กทม. ทั้งหมดใหม่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสถานะทรัพย์สินของ กทม. ณ ปัจจุบัน ว่าให้เช่า ขาย เสีย หรือมีการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินอย่างไร โดยสำรวจจากสำนักงานเขต 50 เขต ทั้งจำนวนที่ดิน ครุภัณฑ์ และราคาประเมินทรัพย์สิน จากเดิมที่คณะกรรมการพิจารณาทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของ กทม. ได้สำรวจไว้ปี 2558 ที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยข้อมูลดังกล่าว มีการจัดส่งให้สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบทุกปี

“สภา กทม. ประสานฝ่ายบริหาร กทม. เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินของ กทม. โดยมีคณะทำงานติดตามตรวจสอบทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ร่วมวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินของ กทม. ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงที่ดินที่เช่าหรือไปขอใช้หน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม. มีที่ดินอยู่ตามเขตต่างๆ รวมถึงนอกพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนมาก เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สนามฟุตซอล บางกอก อารีน่า หรือ สถาบันพัฒนาข้าราชการ หนองจอก ที่ดิน อ.ทับทัน จ.อุทัยธานี ที่ดินริมแม่น้ำท่าจีน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่จอดรถบางลำพู หรือ ซอยสวนมะลิ เป็นต้น ขณะที่พื้นที่เช่าบางแห่งมีการต่อเติมไม่ได้รับอนุญาต โดยการประเมินราคาใหม่ จะทำให้ กทม. สามารถจัดเก็บรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกจำนวนมาก เช่น จากประเมินราคาทรัพย์สินตลาดนัดจตุจักรของ กทม. เมื่อปี 2555 เช่น อาคาร สถานที่ ถนน และอื่นๆ มีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น