xs
xsm
sm
md
lg

“ปึ้ง” แนะ คสช.ตื๊อมะกันอาจได้พบ “ทรัมป์” - “ชูศักดิ์” ปัด “ปู” ยื้อเวลาคดีจำนำข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
อดีต รมว.ต่างประเทศ ไม่แปลกใจสหรัฐฯ ยังไม่ระบุวันให้ “ประยุทธ์” บินพบ “ทรัมป์” เชื่อโทร.หาหวังต้องการแรงหนุนปมพิพาทเกาหลี หยัน คสช.ไม่เข้าใจวิธีนักธุรกิจ คงตีความไปเอง แนะตื้อเท่านั้นอาจได้เจอ ด้านประธานทีมกฎหมายเพื่อไทย ปัด “ยิ่งลักษณ์” ยื้อเวลาคดีจำนำข้าว อ้างเป็นข้อต่อสู้ โยนศาลดูเข้าเกณฑ์ รธน.หรือไม่

วันนี้ (10 ก.ค.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกรณีที่สหรัฐอเมริกายังไม่ยืนยันวันที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าพบอย่างเป็นทางการว่า การที่สหรัฐฯ ไม่ยืนยันวันที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์พบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญนั้นก็ไม่แปลกใจ เพราะหลังจากที่นายโดนัลด์เข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน สหรัฐฯ ก็มีเหตุการณ์ตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ จึงต้องการแรงสนับสนุนจากไทยและแรงสนับสนุนในเวทีผู้นำอาเซียน ซึ่งรัฐบาล คสช.อาจจะไม่เข้าใจวิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและการพูดทักทายโดยมารยาทของนักธุรกิจ

“ท่านอาจจะไปตีความและคิดเอาเองว่าสหรัฐฯ อยากเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ไปพบอย่างเป็นทางการ แต่ดูจากการวิเคราะห์ข่าวของสำนักข่าวในสหรัฐฯ ในวอชิงตัน ดี.ซี. ก็จะยังคงมีประเด็นที่ยังคงมองว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ดังนั้นการที่ผู้นำของเขาจะมาให้ความสำคัญกับรัฐบาล คสช.คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักพอสมควร แต่ก็อย่าได้ละความพยายาม ตื๊อเท่านั้นที่อาจจะทำให้ได้เข้าพบ” นายสุรพงษ์กล่าว

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีทีมทนาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยบางฝ่ายออกมาระบุว่าเป็นการกดดันการพิจารณาของศาลหรือหวังยืดเวลาว่า คดีอาญาเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ คดีบางประเภทแม้จำเลยรับสารภาพ ยังต้องสืบพยานให้แน่ใจว่าจำเลยกระทำผิดจริง ถ้ามีกรณีเป็นที่สงสัยก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย สำหรับกรณีข้อต่อสู้เรื่องกฎหมายที่มาปรับใช้กับคดีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นข้อต่อสู้ได้ประการหนึ่งซึ่งมีบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับ ส่วนจะเข้าเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพียงใดหรือไม่ ก็คงเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลจะพิจารณา ควรทำความเข้าใจว่าเป็นสิทธิและโอกาสของจำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่มากกว่า ไม่ควรมองไปในเชิงการตีรวน ประวิงเวลาหรือยื้อคดี การทำให้ทุกๆ ประเด็นมีคำตอบ ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยน่าจะเป็นผลดีมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น