โพล ม.กรุงเทพ สำรวจความเห็นเรื่อง “เงินทอนกับความเลื่อมใสในพุทธศาสนา” ส่วนใหญ่มองว่าไม่มีผลต่อการทำบุญ หรือความเลื่อมใส แต่อยากให้มีการตรวจสอบจริงจัง ส่วนมากยังไม่ค่อยเชื่อมั่นหน่วยงานที่ดูแลพุทธศาสนา
วันนี้ (9 ก.ค.) กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “เงินทอนกับความเลื่อมใสในพุทธศาสนา” โดยเก็บข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น 1,193 คน พบว่า
เมื่อถามความเห็นของชาวพุทธมีผลต่อการทำบุญหรือไม่อย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.7 เห็นว่าไม่มีผลต่อการทำบุญ คิดว่า จะบริจาคเหมือนเดิม เพราะทำบุญให้วัด ขณะที่ร้อยละ 42.3 เห็นว่า มีผลต่อการทำบุญ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 25.0 ทำให้ต้องคิดก่อนตัดสินใจบริจาค รองลงมาร้อยละ 11.3 ทำให้ไม่อยากบริจาคให้แก่กิจกรรมใดๆ ทางพุทธศาสนา และร้อยละ 6.0 ทำให้ต้องตรวจสอบวัดนั้นๆ
ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่ากรณีเงินทอนวัด หรือการทุจริตเงินอุดหนุนวัด มีผลมากน้อยเพียงใดต่อการทำให้ความศรัทธาหรือเลื่อมใสในพุทธศาสนาลดลง ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.7 เห็นว่า มีผลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 35.3 เห็นว่า มีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
ด้านความเห็นต่อมาตรการที่ควรใช้เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางพุทธศาสนา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.6 อยากให้มีการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง รองลงมา ร้อยละ 32.1 อยากให้ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัดอย่างรัดกุม และร้อยละ 10.3 อยากให้ใช้ ม.44 ในการปฏิรูปพุทธศาสนา
สุดท้ายเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานที่ดูแลพุทธศาสนาว่าจะทำงานด้วยความโปร่งใส ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.1 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 33.9 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด