กรธ.เชื่อหาก สนช.ตีตกกฎหมายลูกก็ไม่กินเวลาจนทำให้เลื่อนเลือกตั้ง ถ้าทำใหม่แค่แก้ปมที่ติดใจ เผยตั้ง กมธ.ร่วมเพื่อเคลียร์ให้จบ ด้านรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แนะ “นิพิฏฐ์” ใจเย็นๆ เชื่อได้ข้อสรุปตามกรอบเสร็จทันเวลา อย่าวิตกฮั้วยื้อเวลาโหวต ขณะที่โฆษกวิป สนช.คอนเฟิร์มไม่เกินปลายปีหน้า
วันนี้ (1 ก.ค.) นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่า ไม่มีใครรู้ว่าสภานิติบัญญัติ (สนช.) จะว่ายังไงบ้าง แต่หากเขาตีตกไปก็ต้องร่างกฎหมายลูกกันใหม่ ตนคิดว่าคงไม่ไปกินเวลาถึงขนาดต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทั้งนี้ยังเชื่อว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป เพราะหากต้องร่างใหม่จริงก็ปรับแก้ในประเด็นที่มีปัญหาติดใจกันเท่านั้นไม่ต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ พวกเราเป็นคนร่าง ดังนั้นหากต้องร่างใหม่พวกเราอาจจะต้องเป็นคนกลับมาร่างเองและการตั้ง กมธ.ร่วม เจตนาคือถกปัญหาและข้อกังวลให้จบ หาทางออกให้ได้จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ไปแล้ว
ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งข้อสังเกตอาจมีการฮั้วกันระหว่าง สนช.กับ กรธ.เพื่อยื้อกฎหมายลูกซึ่งจะส่งผลให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกว่า ขอให้นายนิพิฏฐ์ใจเย็นๆ สนช.เราพิจารณากฎหมายตามกระบวนการและข้อบังคับที่บอกไว้ตามรัฐธรรมนูญ การตั้ง กมธ.ร่วมคงไม่ได้ยืดเยื้ออะไรหนักหนา เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปตามกรอบ เสร็จทันเวลา เพราะก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกันเบื้องต้นระดับหนึ่งแล้ว ส่วนประชาชนก็อย่าวิตก ว่าเรา สนช.กับ กรธ.จะฮั้วกันเพื่อยื้อเวลาเลื่อนวันเลือกตั้ง ประชาชนสบายใจได้ ไม่มีอะไรแบบนั้นแน่
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดกันไปขนาดนั้น ตอนนี้กฎหมายยังออกมาไม่ครบทุกฉบับ สำหรับกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถึงแม้จะตั้ง กมธ.ร่วมไป 1 ฉบับแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในกรอบเวลา 8 เดือน จะเกินกว่านั้นไม่ได้ มองในแง่ดี ถ้า กรธ.ส่งมาเร็ว เวลาก็สั้นลง แต่ตอนนี้ยังเดาไม่ออกว่าฉบับอื่นจะมีการตั้ง กมธ.ร่วมหรือไม่ ทั้งนี้ก็ต้องดู กรธ.ส่งฉบับสุดท้ายมาเมื่อไหร่ และเป็นฉบับใด ถ้าหากมองแง่ร้ายที่สุด ว่ามีปัญหาในฉบับสุดท้าย แล้วมีการตั้ง กมธ.ร่วม การทำงานคงไม่เกินกรอบเวลา 8 เดือน บวกกับขั้นตอนชั้น กมธ.ร่วมอีก 25 วัน ดังนั้น ณ วันนี้การเลือกตั้งยังอยู่ในกรอบโรดแมป บวกลบแล้วไม่เกินเลยปลายปี 61 แน่นอน
“ขอยืนยันว่าทำงานมาจนวันนี้ไม่ได้ฮั้วกัน พิจารณากฎหมายตามกรอบการทำงาน ประธาน สนช.เป็นห่วงการศึกษากฎหมาย และตั้งศึกษากฎหมายล่วงหน้าด้วยซ้ำ เราพยายามทำให้ทัน สบายใจได้ว่า สนช.ไม่ได้ยื้อ หรือฮั้วกันตามที่นักการเมืองวิจารณ์” นพ.เจตน์กล่าว