xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับเห็นแย้ง กรธ.ไพรมารีโหวต ปัดทำเพื่อเลื่อนเลือกตั้ง ตัดพ้อมองแง่ดีบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช. ยันเห็นแย้ง กรธ.ปมไพรมารีโหวต แต่ยันไม่กระทบโรดแมป ไม่ได้มุ่งทำให้เลื่อนเลือกตั้ง บ่นทำอะไรก็โดนทั้งขึ้นและล่อง วอนทุกฝ่ายควรมองโลกในแง่ดี



วันนี้ (29 มิ.ย.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยว่า การประชุม สนช.ในวันที่ 30 มิ.ย.จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันระหว่าง สนช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.เช่นกัน ทาง สนช.ได้ส่งให้ กรธ.และ กกต.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.แล้วเพื่อให้พิจารณาว่าจะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่ โดยเวลานี้ สนช.ก็รอรับฟังความคิดเห็นจาก กรธ.และ กกต.อยู่

รองประธาน สนช.กล่าวอีกว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันนั้นเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่าน สนช.ไปแล้วมีเนื้อหาที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ไม่ใช่การมาพิจารณาว่าส่วนใดในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ได้แต่อย่างใด

เมื่อถามว่า เวลานี้มีฝ่ายการเมืองออกมาตั้งข้อสังเกตว่าการที่ สนช.และ กรธ.มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะนำไปสู่การทำให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตกไปจนมีผลให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป นายสุรชัยกล่าวว่า ยืนยันว่าการที่ กรธ.และ สนช.มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือการทำไพรมารีโหวต ไม่ได้เป็นการทะเลาะกันตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะเป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น และที่สำคัญไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตกไป อันนำไปสู่การเลื่อนการเลือกตั้งแต่อย่างใด ดังนั้น โรดแมปการเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิมที่ได้มีการวางเอาไว้

“อยากให้มองโลกในแง่ดีกันบ้าง เพราะถ้ามองในแง่ไม่ดี จะทำให้ไม่มีใครกล้าตัดสินใจในประเด็นที่มีความขัดแย้ง ในทางกลับกัน หาก สนช.รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาจาก กรธ.โดยที่ สนช.ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ก็ย่อมมีบางฝ่ายมองว่า กรธ.และ สนช.เป็นพวกเดียวกันอีก กลายเป็นว่าคนทำงานโดนตลอด จึงต้องให้อิสระคนทำงานบ้าง และรัฐธรรมนูญก็ได้ให้ทางออกไว้แล้ว คือ การตั้งคณะกรรมาธิการร่วม” นายสุรชัยกล่าว

เมื่อถามว่า หากในอนาคต สนช.มีมติเกิน 2 ใน 3 ไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันมีการแก้ไข จนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตกไป องค์กรใดจะเข้ามาทำหน้าที่จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ นายสุรชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ คิดว่าควรให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.มาตอบน่าจะเหมาะสมกว่า แต่ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าถ้าเกิดปัญหาที่ว่านั้นในช่วง 240 วัน ก็ต้องทำให้เสร็จภายใน 240 วัน จะไปขยับโรดแมปไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น