คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ยื่นหนังสือถึงประธาน สนช.ปมร่าง พ.ร.ก.ต่างด้าว เผยเอกชนโวยบังคับใช้ทันที แถมโทษสูงเกินกระทบ SMEs แนะเปิดจดทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายอีกรอบ ให้ กกร.ร่วมชงความเห็นที่ทำได้ ไม่กระทบการจ้างเกินไป ควรมี กม.อนุบัญญัติเฉพาะจ่ายชดเชยแรงงานที่มากับนายจ้าง และประชาสัมพันธ์เร่งด่วน ด้าน “พรเพชร” จ่อชงวิป สนช.ส่ง กมธ.พาณิชย์ ศึกษา สู่การปรับปรุง แย้มอาจมีบทเฉพาะกาล
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดยนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำเสนอปัญหาในภาคปฏิบัติตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่า ทาง กกร.ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกผู้ประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศถึงปัญหาในการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที และมีบทลงโทษที่สูงเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ท่องเที่ยวและบริการ และกลุ่มวิถีชุมชนที่จ้างแรงงานต่างด้าว
ดังนั้น ทาง กกร.จึงขอเสนอความเห็นเพื่อให้นำไปพิจารณาประกอบแนวทางการปฏิบัติโดย 1. เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการทำงานอีกครั้ง 2. ควรให้มีผู้แทนภาคเอกชน หรือ กกร. เข้ามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นเพื่อให้สามารถปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ได้และไม่กระทบต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวมากเกินไป 3. ควรให้มีการกำหนดกฎหมายอนุบัญญัติเฉพาะในการจ่ายค่าชดเชยแรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานกับนายจ้างในประเทศ และ 4. ควรมีการประชาสัมพันธ์ พ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้ประกอบการ ตลอดจนตั้งศูนย์ในการให้คำปรึกษาของกระทรวงแรงงานต่อไป
ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งจะต้องส่งมาให้ สนช.รับรอง ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะมีผลบังคับใช้เป็น พ.ร.บ. ซึ่งทาง สนช.ได้รับร่าง พ.ร.ก.ซึ่งจะบรรจุเข้าสู่วาระประชุมในสัปดาห์หน้า โดยก่อนที่ สนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ก็จะต้องมีการศึกษา โดยหารือในวิป สนช.ว่าควรจะให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องคือคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน ไปศึกษา ซึ่งอาจจะมีข้อสังเกตที่อาจจะนำไปสู่การปรับปรุงร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล เท่าที่ดูเบื้องต้นแล้วส่วนใหญ่น่าจะมีบทเฉพาะกาลเพื่อให้อยู่ในระยะการปรับตัว ถ้าหลังจากนั้นไม่ทำก็จะมีบทลงโทษรุนแรง เช่น พ.ร.บ.อาวุธปืนมีปืนเถื่อนไว้ในครอบครอง รัฐบาลก็ให้โอกาสที่จะนำปืนมาจดทะเบียนให้ถูกต้อง ฉบับนี้ก็เช่นกัน ซึ่งจะรับไว้พิจารณาและดำเนินการตามนี้