หัวหน้าประชาธิปัตย์ บอก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติส่อขัดรัฐธรรมนูญแค่ความเห็น “วิรัตน์” ชี้มองได้ 2 มุม รับไม่ค่อยเชื่อแนวทาง ถาม สนช.เป็นตัวแทนคนทั้งชาติได้มากน้อยเพียงใด ทำยังไงให้เหมาะสมสภาพความเป็นจริงประเทศ
วันนี้ (28 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดยุทธศาสตร์ชาติอาจขัดแย้งรัฐธรรมนูญว่า เป็นความคิดเห็นของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แต่เท่าที่สอบถามภายในพรรคนั้นเห็นตรงกันว่าการมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการร่างกฎหมาย และตอนจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ค่อนข้างน้อยมาก รัฐบาลอาจอ้างเรื่องระยะเวลาที่ถูกจำกัด ถ้าไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมยุทธศาสตร์นั้นจะเป็นของผู้เขียน
“ผมไม่ค่อยเชื่อในแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะโลกปัจจุบันทำอย่างนั้นยาก แต่เมื่อมีก็ต้องหาทางให้มันเกิดเจตนารมณ์ร่วมของสังคม ยุทธศาสตร์จึงจะเดินได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องเสนอเหมือนกฎหมาย ที่ต้องส่งให้ ส.ส และ ส.ว.พิจารณาด้วย แต่วันนี้มีเพียงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คำถามคือ สนช.จะสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังแสดงเจตนาชัดที่จะจำกัดการมีส่วนร่วมอีกด้วย โดยกำหนดว่าในกรณีเลือกตั้งเร็ว สนช.หมดวาระ ก็ไม่ให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณา แต่ให้ ส.ว.ชุดแรกพิจารณาแทน ซึ่ง ส.ว.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า กรณีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น อาจมองได้ว่าอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของตัวแทนปวงชนชาวไทย เพราะสร้างระบบขึ้นมาตีกรอบให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในอีกมุมอาจมองได้อีกว่าไม่ขัด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีการกำหนดให้ทำยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ภาระจึงตกหนักที่ผู้ร่างฯ ยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ ไม่เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ซึ่งเขามีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาของประเทศ และบางครั้งต้องใช้นวัตกรรมในเชิงนโยบาย