xs
xsm
sm
md
lg

ท้องถิ่นเตรียมเฮ! รัฐเล็งสรุป “เพิ่มส่วนแบ่งอุทยานฯให้ 679 อบต. 40%” หลังบอร์ดอุทยาน รับได้ไม่ต่ำกว่า 15% พบ 5 เดือน เงินเข้าอุทยาน 1.05 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ท้องถิ่นเตรียมเฮ! ก.ก.ถ. เล็งสรุป “ปรับสัดส่วนรายได้อุทยานฯ” เพิ่มให้ 679 อบต. ที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ จากข้อเสนอ ร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 40 หลัง “บอร์ดอุทยาน” รับได้จัดสรรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 แต่ต้องจัดส่งให้จังหวัดโดยตรง ส่วน “มหาดไทย” สั่งตั้งคณะทำงานแก้กฎกระทรวงฉบับใหม่ รองรับเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมอุทยานฯให้ อบต. คาด มีผลเร็วๆ นี้ เผย ปี 59 อุทยานจัดเก็บได้ 1.98 พันล้าน ปี 60 แค่ 5 เดือนเก็บได้แล้ว 1.05 พันล้าน สูงกว่า ปี 54 - 58 กว่าเท่าตัว

วันนี้ (18 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ครั้งที่ 1/2560 ในวันจันทร์ที่ 20 มิ.ย. นี้ ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการติดตามความคืบหน้าการปรับสัดส่วนเงินรายได้ที่จัดเก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 40

ภายหลังเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือตามคำสั่ง มท. ที่ 134/2560 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติสภาตำบลและ องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เพื่อพิจารณาปรับปรุงรายได้จากค่าธรรมเนียม ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติตาม พระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

มท.ตั้งคณะทำงานพิจารณากฎกระทรวงพัฒนาการจัดเก็บรายได้อุทยานเข้า อบต.

ทั้งการแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวเพื่อรองรับมติการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ครั้งที่ 6/2559 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่เห็นชอบให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการแจ้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอ

โดยสั่งการให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ ป่า และพันธุ์พืช รับไปปรับสัดส่วนเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ข้อ 1 ซึ่งกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ ป่า และพันธุ์พืช แบ่งเงิน “ในอัตราร้อยละห้า” ของเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติใน อบต.ใด แก่ อบต. นั้นทุกแห่ง แห่งละเท่ากัน จาก “ร้อยละห้า” เป็น “ร้อยละสี่สิบ” จากรายได้ที่กรมอุทยานฯ ได้รับ 3 รายการ คือ (1) ค่าบริการให้ความสะดวกต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติ (2) ค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้เข้าดำเนินการในอุทยานแห่งชาติ (3) ค่าตอบแทนสำหรับการอนุญาตพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ

และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย รับไปเปลี่ยนแปลงวิธีการ รับมอบเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติฯ ในแต่ละ ปีงบประมาณ จาก “ให้ มท. รับมอบเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติฯ เป็นสี่งวด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ มท. จะตกลง กัน และเมื่อ มท. ได้รับมอบแล้วให้แบ่งแก่องค์การบริหารส่วนตำบลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงินตามงวด นั้น” เป็น “ให้กรมอุทยานฯ จัดสรรเงิน ตามส่วนแบ่งให้ อบต. ตามที่ อบต. แต่ละแห่งในพื้นที่ได้รับโดยจัดสรรเป็นรายเดือน”

บอร์ดอุทยาน รับได้จัดสรรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 แต่ต้องส่งจังหวัดโดยตรง

มีรายงานจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า ก่อนหน้านั้น นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยเห็นว่า เงินรายได้ที่อุทยานฯ แบ่งให้ท้องถิ่นละ 5% ถือว่าเหมาะสมดีแล้ว 40% ถือว่ามากเกินไป จะเอาที่ไหนให้ เพราะอุทยานฯ มีภาระที่จะต้องนำไปใช้อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) ล่าสุด เมื่อ มี.ค. 2560 มีข้อสรุปเรื่องนี้ ว่า ให้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับจากการจัดเก็บค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติให้กับท้องถิ่นไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 15 และควรจัดสรรกับจังหวัดโดยตรงเพื่อจังหวัดจะได้พิจารณาจัดสรรให้กับท้องถิ่นต่อไป

ปี 59 จัดเก็บได้ 1.98 พันล้าน ส่วนปี 60 แค่ 5 เดือนเก็บได้แล้ว 1.05 พันล้าน

มีรายงานด้วยว่า ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปัจจุบัน กรมอุทยานฯ มีรายได้จากอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ในช่วงระยะเวลาปี 2554 - 2560 ดังนี้ - ปี 2554 จัดเก็บรายได้รวมกว่า 496,500,109.99 บาท - ปี 2555 จัดเก็บได้ 547,366.802.65 บาท - ปี 2556 จัดเก็บได้ 662,739,340.34 บาท - ปี 2557 จัดเก็บได้ 696,319,219.22 บาท - ปี 2558 จัดเก็บได้ 896,829,343.39 บาท

ส่วนปี 2559 จัดเก็บได้ 1,982,173,508.99 บาท ขณะที่ปี 2560 (ระหว่าง ต.ค. 2559 - ก.พ. 2560) จัดเก็บได้แล้ว 1,053,683,905.00 บาท ทั้งนี้ พบว่า รายได้ปี 2559 มากกว่า ปี 2558 ถึง 1,085,344,165.6 บาท และกรมอุทยานแห่งชาติ ได้แบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมบำรุงอุทยานแห่งชาติ จัดสรรให้แก่ อบต. ตามกฎกระทรวง โดยในปี 2558 ได้จัดสรรให้แก่ อบต.ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 679 แห่ง เป็นเงิน 42,816 ล้านบาท ส่วนการแบ่งรายได้ให้ อบต. ในปี 2559 ตามกฎกระทรวงมหาดไทยนั้นยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากทุกฝ่ายเห็นชอบ จะทำให้ อบต. ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 679 แห่ง จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ และ ตาม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งกรมอุทยานจัดเก็บได้กว่าปีละกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าสู่ท้องถิ่นของตนเองทันที




กำลังโหลดความคิดเห็น