สะเทือนวงการครู! ป.ป.ช.เชือด 20 บิ๊ก สกสค.ในบอร์ด ช.พ.ค. พร้อมเครือข่าย ‘เดอะบิ๊ก’ อดีตเจ้าของสโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจ โดนด้วย! พันปมปล่อยกู้เงิน ช.พ.ค.ให้ ‘บิลเลี่ยน กรุ๊ป’ ของ ‘เดอะบิ๊ก’ 2.1 พันล้าน และ 400 ล้านบาท โดยมิชอบ เผยมีการใช้ “ใบหุ้นปลอม” ของสโมสรฟุตบอลเรดดิ้ง 50 ล้านหุ้น หุ้นละ 1 ปอนด์ มาวางเป็นประกัน แถมยังวาง “เช็คโฉนดที่ดิน” และ “ดราฟต์” มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,200 ล้านบาท) ปลอมให้บอร์ด สกสค.ถือไว้
วันนี้ (14 มิ.ย.) มีรายงานว่า นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.แถลงว่า เมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ (ช.พ.ค.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค) กับพวก รวม 20 ราย ประกอบด้วย
1. นายเกษม กลั่นยิ่ง 2. นายสมศักดิ์ ตาไชย 3. นายสุรเดช พรหมโชติ 4. นายประวิทย์ บึงไสย์ 5. นายนเรศ แสนมูล 6. นายสมศักดิ์ ทองแก้ว 7. นายอุดม รูปดี 8. ว่าที่ร้อยตรี เทพสุจินต์ พงษ์สวัสดิ์ 9. นางปิยธิดา พลน้ำเที่ยง 10. นายนิเทศน์ บัวตูม 11. นายเพทาย ทองมหา 12. นางปิยาภรณ์ เยาวาจา 13. นายพรเทพ มุสิกวัตร 14. นางมยุรี ตัณฑวัล 15. นายสุเทพ ริยาพันธ์ 16. นางสาว กัญญาณัฐ แจ่มมี 17. บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด 18. นายสิทธินันท์ หลอมทอง ในฐานะกรรมการผู้มี อำนาจลงนามผูกพันบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด และในฐานะส่วนตัว 19. นายมงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด และในฐานะส่วนตัว 20. นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด และในฐานะส่วนตัว
กรณีอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท จากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดยมิชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด
เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยมีศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการ นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นอนุกรรมการ
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้รับหนังสือเชิญชวนให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 2,100 ล้านบาท จากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา นายสิทธินันท์ หลอมทอง และนายมงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ จากนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ในการประชุมครั้งที่ 15/2556 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 เวลา 18.00 น. ได้มีมติอนุมัติให้นำเงินของกองทุนฯ ไปซื้อตั๋วสัญญา ใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด จำนวน 2,100 ล้านบาท โดยพิจารณาจากเอกสารของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ที่เชิญชวนเพียงฉบับเดียว
ทั้งที่ในหนังสือเชิญชวนได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะมีธนาคาร เป็นผู้อาวัลเต็มจำนวน ดอกเบี้ยร้อยละ 7 กำหนดเวลา 1 ปี 1 วัน ไม่มีการพิจารณาในรายละเอียด หรือเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นสถานะของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในเดือน พฤศจิกายน 2555 ทุนจดทะเบียนและผลประกอบการ และไม่ทำการตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการอาวัลของธนาคารอัน เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินสมบูรณ์ตามคำเชิญชวนนั้นด้วย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีความจำเป็นต้องเร่งรีบพิจารณาและอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทฯ โดยปราศจากการตรวจสอบข้างต้น ทั้งภายหลังจากวันที่อนุมัติเพียง 2 วัน กลับเร่งรีบโอนเงินจำนวน 2,100 ล้านบาท ให้แก่บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งภายหลังบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ก็ไม่มีการขอให้ธนาคารพาณิชย์ใดๆ ทำการอาวัลเพื่อรับรองตั๋วสัญญา ใช้เงินดังกล่าว
แม้ต่อมาระหว่างรอการอาวัลโดยธนาคาร บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด จะได้นำหลักทรัพย์ เป็นโฉนดที่ดิน เช็คของธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และดราฟต์ของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้คอร์เปอเรชั่น จำกัด มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,200 ล้านบาท) ให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกัน แต่จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่าราคาประเมินที่ดินรวมเป็นเงินประมาณ 37 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเช็คก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ และดราฟต์ก็เป็นของปลอม
ต่อมาระหว่างที่บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ยังไม่สามารถหาธนาคารมาอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินได้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ก็ยังอนุมัติเงินเพิ่มอีก 400 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกก็ยังไม่มีการอาวัล และภายหลังการอนุมัติตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 400 ล้านบาทดังกล่าวก็ไม่มีการอาวัลเช่นเดียวกัน แม้ต่อมาบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด จะได้นำใบหุ้นของสโมสรฟุตบอลเรดดิ้ง จำนวน 50 ล้านหุ้น หุ้นละ 1 ปอนด์ มาวางเป็นประกัน แต่ก็ปรากฏว่าเป็นใบหุ้นปลอม และเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับใกล้ครบ กำหนดเวลาชำระเงิน คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ กลับยินยอมขยายเวลาในการชำระหนี้ให้แก่บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ออกไปอีกจากเดิมจะครบกำหนดวันที่ 28 ธันวาคม 2557 ขยายไปวันที่ 31 มกราคม 2558 และปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินสกุลโครเอเชีย จำนวน 950,000,000 HRK ที่บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด นำมาวางเพื่อขอขยายระยะเวลานั้น แม้จะเป็นเงินสกุลโครเอเชียจริงแต่ได้มีการเลิกใช้ไปแล้ว จากพฤติการณ์ดังกล่าวของคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ที่อนุมัติเงินของกองทุนฯ จำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ได้รับเงินทั้งจำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท ดังกล่าวไปโดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อกองทุนฯ และสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.
การกระทำของคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการ สวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. มีมูลเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาและความผิดวินัย ดังนี้
1. นายเกษม กลั่นยิ่ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 และตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
2. นายสมศักดิ์ ตาไชย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายสุรเดช พรหมโชติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายนิเทศน์ บัวตูม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 นายเพทาย ทองมหา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 นางปิยาภรณ์ เยาวาจา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 นายพรเทพ มุสิกวัตร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 นางมยุรี ตัณฑวัล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 นายสุเทพ ริยาพันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15 และนางสาว กัญญาณัฐ แจ่มมี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำในส านักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้รับเงินเดือนจากสำนักงานฯ มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาว่าด้วยวินัยและ การดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2552 ข้อ 6 ข้อ 8 ข้อ 9 วรรคสอง และข้อ 19 และมีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
3. นายประวิทย์ บึงไสย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายนเรศ แสนมูล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายสมศักดิ์ ทองแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นายอุดม รูปดี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และว่าที่ร้อยตรี เทพสุจินต์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 ซึ่งเป็น กรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. และดำรง ตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
4. นางปิยธิดา พลน้ำเที่ยง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 กรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริม ความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. และผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน มีความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
5. บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17 นายสิทธินันท์ หลอมทอง ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 18 นายมงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19 และนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 20 มีความผิด ทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และมีความผิด ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91
เมื่อถามว่า ในสำนวนการไต่สวน ป.ป.ช. มีผู้ถูกกล่าวหา 28 ราย แต่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแค่ 20 ราย ที่เหลือถูกกันไว้เป็นพยานหรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า คดีเกี่ยวกับเงินกู้ ช.พ.ค. ที่ร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. มีเบื้องต้น 3 คดี คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ส่วนอีก 2 คดี คือ การอนุมัติเงินของกองทุน ช.พ.ค. โดยมิชอบ 500 ล้านบาท และคดีออกระเบียบโดยมิชอบ โดยทั้ง 2 คดีนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือถูกกล่าวหาในอีกคดีหนึ่ง โดยคดีที่เกี่ยวข้องกับ ช.พ.ค. ป.ป.ช. มองเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้เสร็จภายในปีงบประมาณนี้
เมื่อถามว่า นายเกษม กับพวกอีก 2 ราย ถูกกล่าวหาในคดีร่ำรวยผิดปกติด้วย ปัจจุบันคืบหน้าอย่างไร นายสรรเสริญ กล่าวว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ และติดตามทรัพย์สินคืนมา ปัจจุบัน ป.ป.ช. ประสานข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เบื้องต้นเท่าที่ทราบ ปปง. ดำเนินการยึดทรัพย์เกี่ยวกับกรณีนี้ไปแล้ว 400 ล้านบาทเศษ และยังอยู่ในการพิจารณาของ ปปง.