xs
xsm
sm
md
lg

มท.1 สั่งลดบทบาทฝ่ายการเมือง อปท. เพิ่มอำนาจฝ่ายอำนวยการ คุม “ทางหลวงท้องถิ่น” ฟันรถน้ำหนักเกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มท.1 เซ็นตั้ง “ฝ่ายอำนวยการ อปท.-กทม.” เป็นเจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับทางหลวงท้องถิ่น ให้อำนาจเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดูแลยานพาหนะที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในเขตรับผิดชอบของ อปท. สามารถเปรียบเทียบค่าปรับถนนหลวงท้องถิ่นทั่วประเทศ เพิ่มอำนาจร่วมสอบสวน จับกุมผู้กระทำความผิดสำหรับทางหลวงท้องถิ่น แทนฝ่ายการเมืองที่ลดบทบาทเป็นแค่กำกับดูแลป้องกันฝ่ายการเมือง

วันนี้ (7 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย ที่ 500/2560 แต่งตั้ง “เจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับทางหลวงท้องถิ่น” โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้อำนาจฝ่ายอำนวยการในเขตขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 4 ประเภท องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเมืองพัทยา มีเจ้าพนักงานทางหลวงฯ ประกอบด้วย ปลัด อบจ. ปลัดเทศบาล ปลัด อบต. และปลัดเมืองพัทยา มีกรรมการ ประกอบด้วย รองปลัด อปท.ทั้ง 4 ประเภท ผอ.สำนักการช่าง ผอ.กองช่าง วิศวกรโยธา นายช่างโยธา และนิติกรประจำ อปท.

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร กำหนดให้ปลัด กทม.เป็นเจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับ กทม. มีรองปลัด กทม. ผอ.สำนักเทศกิจ ผอ.สำนักการระบายน้ำ ผอ.เขต ผอ.สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ ผอ.กองตรวจและปฏิบัติการพื้นที่ 1-3 ผอ.กองระบบคลอง ผอ.กองระบบท่อ ผู้ช่วยผอ.เขต หัวหน้าศูนย์ก่อสร้าง หัวหน้าฝ่ายโยธา/ฝ่ายเทศกิจ/กลุ่มงานนิติการเขต รวมถึงหัวหน้าวิศวกรโยธา เครื่องกล สถาปนิก เป็นกรรมการ

มีรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลง ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แก้ไชเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) มาตรา 15 (3) และมาตรา 21 กำหนด ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา เป็นผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น มีหน้าที่กำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549

ทั้งนี้ ฝ่ายอำนวยการ จะเข้ามาดำเนินการ ในส่วนของการห้ามใช้ ยานพาหนะที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดในเขตรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสัมพันธ์ให้ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้รถและประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งอัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 เพื่อแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดทำให้ถนน ชำรุดเสียหาย

ขณะเดียวกัo กระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับ ทางหลวงท้องถิ่น พ.ศ. ... เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ประกาศแต่งตั้ง “เจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับทางหลวงท้องถิ่น” ดังกล่าวดำเนินการมาตั้งแต่ 2555 เนื่องจากพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 15 (3) “ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา หรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง แล้วแต่กรณี เป็น “ผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น”

“ประกอบกับมาตรา 21 กำหนดให้บุคคลตำแหน่งข้างต้นดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงท้องถิ่น” อีกทั้งมาตรา 73/3 บัญญัติว่า “บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียวให้ “ผู้อำนวยการทางหลวง” หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ และเมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้วให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า เมื่อกฎหมายว่าด้วยทางหลวง มาตรา 13 ได้กำหนดให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น และมีอำนาจตามมาตรา 21 โดยเป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวงและงานที่เกี่ยวกับทางหลวงท้องถิ่นแล้ว จึงไม่สมควรแต่งตั้งให้บุคคลตำแหน่งดังกล่าวซึ่งมีหน้าที่กำกับตรวจตรา เป็นเจ้าพนักงานทางหลวง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอีก

เนื่องจากการแต่งตั้งให้เป็นทั้ง “ผู้อำนวยการทางหลวง” และ “เจ้าพนักงานทางหลวง” อาจทำให้ผู้ควบคุมยานพาหนะเกิดความสับสนว่า บุคคลดังกล่าวออกคำสั่งในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานทางหลวง อีกทั้งมาตรา 24 กำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานทางหลวงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นหาก “ผู้อำนวยการทางหลวง” ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานทางหลวงแล้วไม่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น เรียกยานพาหนะให้หยุดเพื่อทำการตรวจสอบ หรือไม่จับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงแล้วก็อาจจะทำให้เข้าข่ายเป็นการกระทำการฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้

มีรายงานว่า คำสั่งฉบับนี้เป็นคนละฉบับกับประกาศกระทรวงคมนาคมที่มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับทางหลวงชนบทเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น