xs
xsm
sm
md
lg

“วิรัตน์” หนุนนิรโทษผู้ชุมนุมอย่างสงบ ยกเว้นพวกผิด ม.112 คดีอาญา และทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าทีมกฎหมาย ปชป. เห็นด้วยนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมโดยสงบ พร้อมเยียวยาทั้งด้านการเงิน และสภาพจิตใจ ขณะเดียวกัน ควรครอบคลุมไปถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนคดีความผิด ม.112 และคดีอาญาร้ายแรง คดีทุจริตต้องดำเนินการตามกฎหมาย

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสุชน ชาลีเครือ กรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้มีการนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองว่า ตนเห็นว่าคดีที่ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้คือคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นตัวการผู้สนับสนุน ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ใช้คนอื่นให้กระทำความผิด จะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมและต้องลงโทษสถานหนักกับบุคคลเหล่านี้

ส่วนอีกคดีหนึ่งที่ตนเห็นว่าไม่ควรจะนิรโทษกรรม ก็คือ คดีที่เป็นคดีอาญาร้ายแรง และคดีทุจริตทุกประเภท ตนเห็นว่า การนิรโทษกรรมควรจะดำเนินการให้กับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่ง มาตรา 63 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติรองรับสิทธิไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรองรับความชอบของการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธไว้แล้ว และจะต้องมีมาตรการเยียวยาทางด้านการเงินและเยียวยาทางด้านจิตใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บจากการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบดังกล่าว โดยจัดเงินดูแลหรือจะเอาหาอาชีพที่เหมาะสม หรือมาตรการอื่นที่เหมาะกับผู้ชุมนุมดังกล่าวนั้น

นายวิรัตน์ กล่าวว่า วงเงินการเยียวยา แม้จะไม่ถึง 7.5 ล้านบาทต่อราย แต่ก็ควรจะให้ผู้ที่ทุพพลภาพ ป่วยเจ็บสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน และได้รับการยอมรับในสังคม โดยจะต้องมีมาตรการเยียวยาทางด้านการเงินและเยียวยาทางด้านจิตใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บจากการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบทั้งการจัดเงินดูแล จัดหาอาชีพที่เหมาะสม หรือมาตรการอื่นที่เหมาะกับผู้ชุมนุมดังกล่าวนั้น ส่วนแนวทางต่อญาตินั้น ควรให้ผู้ที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ ป่วยเจ็บได้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน และได้รับการยอมรับในสังคม

สำหรับแนวทางที่จะนิรโทษกรรม ควรให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยกร่างเป็นพระราชบัญญัติเพื่อจะได้รอบคอบรัดกุมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งอาจจะพิจารณาโดยรวดเร็วหรือกระชับเพื่อจะทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาโดยเร็ว

นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มาตรการเยียวยานั้น ควรคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการใช้นโยบายผิดพลาดในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และเริ่มรุนแรงขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยใช้อำนาจข่มเหงรังแกพี่น้องใน 3 จังหวัดภาคใต้ อย่างไม่เป็นธรรม ลุแก่อำนาจ โดยมีเหล่าบริวารรู้เห็นเป็นใจสนับสนุนการใช้ความรุนแรงดังกล่าว จนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายไม่น้อยกว่า 20,000 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิต มีทั้ง ทหาร ตำรวจ ครู พระภิกษุ โต๊ะอิหม่าม นักเรียน ผู้หญิง อาสาสมัคร และผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก อีกประมาณ 7,000 คน มีผู้บาดเจ็บอีกนับ 10,000 คน มีผู้พิการและขาดไร้อุปการะมากมาย ซึ่งคนเหล่านี้ควรได้รับการเยียวยาโดยมาตรการเยียวยาที่ใกล้เคียงกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น