สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยภาพรวมสื่อมวลชนปี 59 พบตกอยู่ในภาวะอึมครึม หวาดระแวงจาก ม.44 และท่าทีของนายกฯ แถมรัฐพยายามออกกฎหมายควบคุมแทรกแซง ยกกรณีจุ้น กสทช.ขยายเวลาชำระค่าประมูลทีวีดิจิตอล-คืนคลื่นวิทยุหน่วยงานรัฐ ชี้เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า” ลั่นค้านการคุกคามเสรีภาพทุกรูปแบบ จี้คนในวงการปรับตัวฟื้นฟูศรัทธา เตือนยิ่งเสนอข่าวละเมิดจริยธรรมทำรัฐใช้เป็นข้ออ้างจุ้นแน่
วันนี้ (30 ธ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกรายงานภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยประจำปี 2559 พบว่า สถานการณ์สื่อมวลชนไทยยังคงตกอยู่ในภาวะ “อึมครึม หวาดระแวง” อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของประกาศ คำสั่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตลอดจนท่าทีและทัศนคติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน รัฐก็มีความมุ่งหมายที่จะออกกฎหมายควบคุมและแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง ถึงขั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เข้าไปแทรกแซงอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกคำสั่งให้ขยายเวลาชำระค่าประมูลสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลออกไปและขยายอายุการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี และในท่ามกลางสถานการณ์ที่วงการสื่อมวลชนกำลังเผชิญหน้ากับการปรับตัว รีดไขมันองค์กรของตัวเอง อันมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ และในปี 2559 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ถือเป็นความสูญเสียและความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงที่สุดของปวงชนชาวไทย รวมถึงวงการสื่อสารมวลชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอยกสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 ให้เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า”
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยยังระบุในรายงานดังกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การปฏิรูปสื่อที่รัฐพยายามออกแบบกฎหมายหลายฉบับ เพื่อใช้กลไกอำนาจควบคุม แทรกแซง คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนและยังมีการใช้อำนาจกำกับสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอประกาศจุดยืนขอคัดค้านทุกรูปแบบให้ถึงที่สุด ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้องค์กรสื่อมวลชนและคนในวงการสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องรีบเร่งปรับตัว เพื่อฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดต่อสาธารณะและให้สังคมเกิดความหวัง แม้ว่าในยุคอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบันนี้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จนสถานประกอบการสื่อหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ทำให้คนในวงการเกิดสภาพ “สื่อซึมเศร้า” เพราะหากสื่อมวลชนเองก็ยังนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรมสื่อในหลายกรณี เปิดช่องให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างในความพยายามเข้าควบคุม อย่างไรก็ตาม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอส่งกำลังใจในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้คนในวงการข่าวรวบรวมพลังฝ่าวิกฤตในช่วงนี้ไปให้ได้พร้อมๆ กัน