xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ส่อไม่รอด คุณสมบัติ กกต.สูงปรี๊ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

หลัง สนช. ลงมติผ่าน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นกฎหมาย แม้จะมีกระแสคัดค้านอย่างหนักจากโลกไซเบอร์ พยายามรวบรวมรายชื่อให้ได้ 5 แสน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล กระนั้นเสียงวิพากษ์ต่างๆ นานา พรั่งพรูออกมาเต็มโลกออนไลน์ไปหมด

มนุษย์ไซเบอร์/นักเลงคีย์บอร์ด กังวลว่า กม. ฉบับนี้กำหนดให้มี คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร 7 - 9 คน มาคอยกำกับดูแล อาจเป็นการทำให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้ง่ายขึ้น และจะกลายเป็นกะลามาครอบให้ประชาชนขาดอิสระในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

แต่เมื่อผ่านไปแล้ว คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่รัฐบาลรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เข้าใจว่า รัฐต้องการใช้ กม. นี้ เข้ามาจัดการคดีร้ายแรง หรือเรื่องความมั่นคง และต้องสร้างความมั่นใจ และยอมรับว่า โลกโซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ต หรือการใช้โทรศัพท์มือถือ ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์ เป็นส่วนสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนไปแล้ว

รวมทั้งในยุคสมัยนี้ ที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลถึงดาวอังคาร เหล่าบรรดาแฮกเกอร์ฝีมือฉกรรจ์มีมากมายอยู่ทั่วทุกมุมโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในยุโรป หรืออเมริกา บางครั้งก็ยังเจอพวกลองของ เข้าไปแฮกอยู่บ่อยๆ ตรงจุดนี้ประเทศไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก

ต้องเน้นย้ำและเคลียร์เรื่อง ซิงเกิลเกตเวย์ ให้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ กม. ฉบับนี้จริง เพราะไม่เช่นนั้นกระแสดราม่าในโลกออนไลน์ คงไม่จบง่ายๆ

ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ การที่ กรธ. เปิดร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฉบับเบื้องต้น พร้อมจัดสัมมนาชี้แจงและรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ทำไปทำมา ปรากฏว่า ไร้เงา 5 เสือจาก กกต. และพรรคการเมืองใหญ่เข้าร่วม มีเพียงเจ้าหน้าที่จากฝ่ายต่างๆ และบรรดาพรรคเล็ก พรรคน้อยโนเนม เท่านั้น แถมบรรยากาศยังโหรงเหรง มีผู้เข้าสัมมนาแค่ครึ่งห้อง

แม้แต่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เต็งหนึ่งที่มีโอกาสหลุดเก้าอี้ทันทีที่ กม. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ยังไม่โผล่หน้ามาให้เห็น แต่ดันไปโพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเสียอย่างนั้น เล่นเอารุ่นใหญ่ อย่าง “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ออกมาสวนหมัด หงายคว่ำไม่เป็นท่า สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งและขัดอกขัดใจ จากความคิดที่ว่า เสนออะไรไป กรธ. ก็ไม่สนใจ เพราะก่อนหน้านี้ที่ กกต. อุตส่าห์นั่งปั้นร่างตุ๊กตาส่งมาให้เสียดิบดีเป็นเจ้าแรก แต่ก็โดนปรับแต่งดีเอ็นเอ จนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม

แม้ว่าจะเพิ่มอำนาจติดดาบ ให้ กกต. เพียงคนเดียวมีอำนาจสามารถตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริต หากพบปัญหาสามารถในหน่วยใดก็สามารถสั่งระงับยับยั้งได้ทันที แถมยังให้อำนาจสืบสวนเพื่อป้องกันการกระทำที่จะเกิดความไม่สุจริต รวมทั้งยังเพิ่มค่าตอบแทนให้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่มันจะไปมีประโยชน์อะไร หากตัวเองจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง

สิ่งหนึ่งที่ กกต. พยายามออกมาโจมตี คือ เรื่องคุณสมบัติของ กกต. ที่ กรธ. กำหนดเสียสูงแบบขั้นพรีเมียม ทำให้บางคน โดยเฉพาะ สมชัย พยายามออกมาแอกชั่นเพราะคุณสมบัติไม่ถึง ซึ่งหากเทียบตามคุณสมบัติแล้ว ยังไงก็คงไม่รอด

คุณสมบัติเรื่องการเคยเป็นระดับหัวหน้าส่วนราชการ อธิบดี หรือเคยทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือด้านสังคม หรือ NGO มานานกว่า 20 ปี หรือจะใช้คุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งเอามารวมๆ กัน ดูๆ ยังไง สมชัย ก็คงคุณสมบัติไม่ครบอยู่ดี

ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปลุ้นว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ จะพิจารณาเป็นอย่างไร ซึ่งกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากองค์กรอิสระต่างๆ เป็นผู้พิจารณา โดยกำหนดเวลาให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน หลังจากที่ ร่าง พ.ร.ป.กกต. ประกาศใช้ และกำหนดให้คำวินิจฉัยของกรรมการสรรหา เป็นที่สุด

นอกเหนือจากเรื่องคุณสมบัติที่ยกระดับสูงขึ้น ในส่วนของ กกต. จังหวัด ที่ กรธ. ทำการยุบทิ้งแบบไร้เยื่อใย แล้วจัดการแปลงร่างเป็น คณะผู้ตรวจการการเลือกตั้ง โดยมีคุณสมบัติ ไม่เป็นข้าราชการประจำ ที่ปรึกษาหน่วยงานราชการ และต้องพ้นจากเป็นสมาชิกพรรค 5 ปี รวมทั้งไม่เป็นญาติ หรือเป็นผู้สมัครเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการถูกแทรกแซง และบงการจากนักการเมืองและราชการ

ตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่บรรดา กกต. พยายามออกมาโต้แย้ง โดยอ้างทั้งเรื่องการทำงานที่อาจจะไม่รู้เรื่องในพื้นที่ รวมทั้งงบประมาณที่อาจไม่คุ้มค่า แต่สุดท้าย กรธ. ก็ไม่เอาด้วย ยังยืนยันตามที่ร่างมา

ที่ผ่านมา กกต. จังหวัด มักมีสัมพันธ์อันดีกับนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จะเห็นจากการที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้าน การยุบ กกต. จังหวัด ตรงนี้ก็อาจจะเป็นจุดยืนยันได้ว่า พวกเขามีสายสัมพันธ์อันดีซึ่งกันและกัน และอาจจะมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ เวลาเกิดการทุจริตการเลือกตั้งแบบเนียนๆ หากแอบไปตกลงกันได้ โดยอาจจะแบ่งผลประโยชน์กันแบบลับๆ ก็จะทำให้เรื่องไปไม่ถึง กกต.ส่วนกลาง ก็รอดจากการโดนแบนไป

โดยคณะผู้ตรวจฯ ก็อาจจะมาจาก ข้าราชการที่เกษียณ นักธุรกิจ NGO หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจที่มีคุณสมบัติครบ โดยให้ผู้ที่สนใจไปลงทะเบียนกับ กกต. ไว้ ต้องขึ้นทะเบียนรายชื่อของคนที่จะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เพื่อไม่ต้องเลือกกันใหม่ทุกปี และในระยะเวลา 5 ปี ก็สามารถสลับพื้นที่กันได้ เวลาจะทำงานก็จับสลาก 2 คน ทำงานในจังหวัดที่ตนเองมีภูมิลำเนา ส่วนที่เหลือก็ให้จับสลากเอาคนนอกพื้นที่มาทำงาน โดยอาจจะได้จากคนภาคเหนือไปทำงานภาคใต้ ก็ได้

การยุบ กกต. จังหวัด และให้มีคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน เชื่อว่า น่าจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น เพราะ กกต. จังหวัดที่ผ่านมา มีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นมามาย และน่าจะทำให้การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ ยุติธรรมมากขึ้น และการทุจริตจะลงลงไปได้ แต่ กกต. ก็ต้องกล้าหาญ อย่าใจอ่อนกับอามิสสินจ้าง ที่แน่นอนว่าต้องมีคนพยายามเข้ามาติดสินบนและตีสนิทอย่างแน่นอน

แต่สุดท้ายการการทำงานของ กกต. จะมีประสิทธิภาพได้มากน้อยแค่ไหน จะสามารถขจัดการทุจริตในการเลือกตั้งที่เป็นต้นเหตุของการคอร์รัปชันของบรรดานักการเมืองได้หรือไม่ ประชาชน ทั้ง 67 ล้านคน ต้องเป็นผู้ช่วย กกต. แจ้งเบาะแส และให้ข้อมูลต่อ กกต. ลำพัง กกต. หรือผู้ตรวจการเลือกตั้ง คงไม่สามารถจับคนกระทำผิดได้ทั้งหมด

ดังนั้น หากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และด้วยระบบเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยน่าจะช่วยการทำงานของ กกต. ให้ดียิ่งขึ้นได้ไม่ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น